กรุงศรี คอนซูเมอร์ชี้ เศรษฐกิจไม่ฟื้นตามคาด ดันหนี้เสียพุ่งต่อ

29 ส.ค. 2567 | 16:50 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2567 | 16:50 น.

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มองทั้งปี 67 NPL มีโอกาสขยับตัวสูงขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตามที่คาด หนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง พร้อมมอง Min pay 8% อยู่ในระดับเหมาะสม การปรับลดลงอาจไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค

นายอธิศ รุจิรวัฒน์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อาทิ บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตโลตัส เปิดเผยว่า สภาวะหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน มองว่ายังไม่ได้ดีเท่าที่ควร และยังช๊อตอยู่

ส่วนภาพรวมการชำระหนี้ในปัจจุบันมองว่ายังไม่ได้มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ อาจไม่ได้ฟื้นตัวดีอย่างที่คาด ดังนั้น นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทจึงได้มีการสนับสนุนให้ลูกหนี้มีการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะได้รับการใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่มีการปรับการสื่อสารกับลูกค้า โดยในระยะนี้ยังคงเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพของสินเชื่อไม่มีหลักประกัน 

ส่วน NPL ของบริษัททั้งปี 2567 มองว่าอาจมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากนักตามภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวตามคาด 

สำหรับประเด็นระดับ Min pay (การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต) ที่ 8% ส่วนตัวมองว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว แม้ว่าในระยะแรกของการปรับขึ้นจาก 5% เป็น 8% อาจเห็นภาวะสะดุดในการชำระหนี้ของลูกค้าอยู่บ้าน แต่ในปัจจุบันตัวเลขการชำระหนี้กลับมามาอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว มองว่าจะเป็นการดีกว่าหากคงในระดับเช่นนี้ต่อไป เพราะการปรับ Min pay เป็น 10% ในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีส่วนต่างที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับการปรับลดลงไปที่ระดับ 5% ตามที่มีกระแสข่าว

 

"ส่วนตัวมองว่า min pay ในระดับ 8% ปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว ในช่วงที่มีการปรับเพิ่มขึ้นจาก 5% มาเป็น 8% เห็นว่าการผิดนัดชำระเยอะขึ้นแต่ในตอนนี้เริ่มทรงตัวดีขึ้นแล้วโดยหากว่า จะกลับไปลดในระดับ 5% อีกสุดท้ายแล้ววัฏจักรจะกลับมาบนซ้ำเดิมอีก การจะขึ้นๆลงๆก็ไม่ได้ดีต่อผู้บริโภคนักเพราะต้องมีการปรับตัว ซึ่งการปรับตัวนั้น ทำไม่ได้เร็ว และ ต้องใช้ระยะเวลากว่าที่จะคุ้นชิน"

สำหรับผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เติบโตเป็นที่น่าพอใจจากความสำเร็จในการเดินกลยุทธ์ของบริษัท โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 189,000 ล้านบาท เติบโต 9%, ยอดสินเชื่อใหม่ 47,000 ล้านบาท เติบโต 6%, ยอดสินเชื่อคงค้าง 140,000 ล้านบาท เติบโต 2% และจำนวนบัญชีลูกค้าใหม่ 287,000 บัญชี เติบโต 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ หมวดใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุดเรียงตามยอดใช้จ่าย ได้แก่ 1. ประกันภัย 2. ปั๊มน้ำมัน 3. ตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือน 4. ไฮเปอร์มาร์ทและซุปเปอร์มาร์เก็ต และ 5. ช้อปออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหมวดใช้จ่ายที่มีอัตราเติบโตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ตัวแทนท่องเที่ยว 2. โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชัน 3. ช้อปออนไลน์ 4. อาหารและเครื่องดื่ม และ 5. ไฮเปอร์มาร์ทและซูเปอร์มาร์เก็ต

ขณะที่อัตราส่วนหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน ส่วนของบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับ 1.4% และสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระอยู่ที่ระดับ 2.6% นับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในธุรกิจ อันเป็นผลจากการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม

ส่วนแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะมุ่งเน้นสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อคงความเป็นผู้นำในธุรกิจ โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลางผ่าน 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 

1. มุ่งพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลักให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น มุ่งเน้นการสร้างความเติบโตในธุรกิจหลัก คือ สินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลัก คือ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อผ่อนชำระให้มีจุดเด่นและสิทธิประโยชน์ที่ตรงความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งวางช่องทางการตลาดและการจำหน่ายที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

2. ขยายระบบนิเวศพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ โดยขยายความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งพันธมิตรหลักที่ร่วมออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต ซึ่งอาจต่อยอดความร่วมมือในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ อีกทั้งพันธมิตรแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ ในธุรกิจต่างๆ ที่จะร่วมนำเสนอโปรโมชันที่ตอบไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โดยเน้นหมวดร้านอาหาร และแผนผ่อนชำระ (Extended Payment Plan)

3. สร้างเสริมนวัตกรรมทางการชำระเงิน พัฒนานวัตกรรมทางการชำระเงิน (Payment Solutions) ใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการชำระเงินที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นให้กับลูกค้า เช่น การใช้ Biometrics หรือการผูกบัญชีบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กับอุปกรณ์ต่างๆ หรือ Digital Wallet ฯลฯ

4. ผสานความร่วมมือในเครือกรุงศรีเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยผสานความร่วมมือให้สอดคล้องและส่งเสริมเป้าหมายทางธุรกิจที่เครือกรุงศรีมุ่งเน้น เช่น ความร่วมมือกับหน่วยงานธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคลของธนาคารผ่านกลยุทธ์ Krungsri One Retail เพื่อเชื่อมโยงให้ลูกค้าบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายในเครือกรุงศรีเพื่อตอบความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

5. พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยวางโครงสร้างและการบริหารทรัพยากรของหน่วยงานสนับสนุนให้สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจในอนาคตของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานให้สามารถรองรับความเติบโตในอนาคตได้

“กลยุทธ์ทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นไปเพื่อเสริมศักยภาพของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ให้สอดรับกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพื่อสร้างความเติบโตอย่างมีคุณภาพและรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจการเงินไว้ได้อย่างยั่งยืน"

สำหรับในช่วงครึ่งหลังปี 2567 มองว่าความสามารถในการใช้จ่ายภายในประเทศอาจชะลอตัวลงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ แต่ในไตรมาส 4 มีแนวโน้มจะแข็งแรงขึ้น สถาบันการเงินจะมีการออกโปรโมชั่นมาแข่งขันกันตามซีซันนอล อย่างไรก็ดี ธุรกิจัยงมีความไม่แน่นอน เพราะภาพของธุรกิจอาจจะมีการเปลี่ยนไปตามปัจจัยอื่นๆ

ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายในปี 2567 ไว้เท่าเดิม ประกอบด้วยยอดบัญชีลูกค้าใหม่อยู่ที่ระดับ 617,000 บัญชี เติบโต 10%, ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรแตะที่ระดับ 393,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%, ยอดสินเชื่อใหม่ไม่น้อยกว่าระดับ 100,000 ล้านบาท โต 9% และยอดสินเชื่อคงค้างไม่ต่ำกว่าระดับ 151,000 ล้านบาท ขยายตัว 2% จากเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน เป็นต้น