จากกรณีรัฐบาลมีแนวคิด ให้ภาคเอกชนเข้าซื้อหนี้ของประชาชน เพื่อช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยไม่ต้องใช้งบประมาณภาครัฐ ทั้งนี้แนวคิดนี้มาจาก
แนวคิดซื้อหนี้ประชาชน
ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเคย ปราศรัยบนเวทีที่จังหวัด พิษณุโลก เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแปรมาจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา ก่อให้เกิดหนี้ครัวเรือนปรับสูงขึ้นและกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL
ล่าสุด นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่เป็นปัญหาในปัจจุบันแตกต่างจากปัญหาที่เกิดในช่วงวิกฤติปี 2540
ที่หนี้ในขณะนั้นเป็นหนี้ของเอกชนที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันทำให้จัดการได้ง่ายกว่า แต่หนี้ในปัจจุบันเป็นหนี้ของครัวเรือน หนี้ของประชาชน การจัดการก็จะยากกว่า
ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงมากมาจากการที่บริโภคมากกว่าการทำธุรกิจ โดยเกิดปัญหาสูงมากในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19
เมื่อมีปัญหามาก กลไกการจัดการที่มีอยู่ก็เข้ามาช่วยจัดการยากรวมทั้งการติดตามทวงก็ไม่ได้ จะฟ้องร้องก็ไม่คุ้ม สุดท้ายก็ต้องมีบางส่วนที่ต้องตัดหนี้ (hair cut)ออกไปเลย
โดยกลไกของธนาคารคือมีการตั้งสำรองและตัดออกไปจากกำไรที่เป็น NPL หรืออาจเอาหนี้ที่มีอยู่ในส่วนนี้ไปขายให้กับคนที่จัดการหนี้ ให้กับธุรกิจที่มีความชำนาญในการติดตามทวงหนี้ ซึ่งลักษณะของธุรกิจนี้จะไม่ใช่ของธนาคาร
นายนณริฏ กล่าวต่อว่าประเด็นที่น่าสนใจก็คือกลไกแบบนี้ใช้ได้ในเวลาปกติ เพราะทุกปีจะมี NPL ประมาณ 1-3% ของการปล่อยกู้หนี้ หรืออาจมีหนี้ที่เป็นหนี้ที่มีการติดตามเป็นพิเศษ (SM) ซึ่งเมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจเข้ามา
ทำให้ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหานานกว่าปกติ ถ้าหากไม่ทำอะไร ก็จะต้องใช้เวลา 3 – 5 ปี พูดง่ายๆคือเราจะเห็นภาพที่บ้านขายไม่ออก คอนโดขายไม่ออก รถขายได้ยาก ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจซึมๆไปแบบนี้
ประเทศไทยนั้นเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่ตอนนี้นักการเงินพูดถึงมากก็คือถ้าเราปล่อยให้ปัญหาการเงินลากยาว จะเกิดปัญหาตามมา เพราะ NPL สูง
แบงก์ก็ไม่อยากปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจก็เจอปัญหา เรียกว่าทำมาค้าไม่ขึ้น คนใช้หนี้ไม่ได้ เพราะเงินไม่หมุน ก็กลับมาที่ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจก็ลดลง ความเสี่ยงที่วนไปแบบนี้เรียกว่า Dead loop ซึ่งคือสิ่งที่ต้องมีการซื้อหนี้ออกมาบริหารเพราะมีปัญหาแบบนี้
เพราะสภาพคล่องของคนลดลง การใช้หนี้ก็ลดลงตาม ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจะเจอในการทำเรื่องนี้ก็คือรัฐบาลจะต้องเจอกับการบริหารหนี้ขอกลุ่มที่เป็นหนี้เสียระดับล่างสุดที่สถาบันการเงินไม่มีความสามารถในการไปจัดการทวงหรือติดตามหนี้ และอาจจะกระทบให้รัฐบาลต้องหางบประมาณมาใช้ในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ต่อให้ลดดอกเบี้ยไปธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ การที่คุณทักษิณบอกว่าจะทำเรื่องการรับซื้อหนี้โดยที่ไม่ใช้งบประมาณนั้นทำได้ยากมาก
หากทำได้ก็จะยังเป็นในขนาดที่เล็ก อาจทำได้แค่ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ไม่อย่างนั้นก็จะทำได้เหมือนโครงการในอดีต ที่แบงก์ชาติก็เคยทำซึ่งแก้หนี้ได้แค่ 1% จาก 1 ล้านล้านบาทไม่ได้สร้างผลในการลดหนี้ได้มาก แต่หากจะทำให้เกิดผลกระทบที่แรงพอก็ต้องใช้งประมาณลงไปช่วยอุดหนุน ซึ่งทำได้แต่ภาครัฐก็จะมาต้องรับภาระในเรื่องนี้