หนุนธปท.แก้หนี้เรื้อรัง เหตุหนทางจบหนี้ชัด

29 มี.ค. 2567 | 15:29 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2567 | 15:29 น.
1.3 k

ธุรกิจทวงถามหนี้ หนุนธปท.แก้หนี้เรื้อรัง เหตุมีเวลาจบหนี้ชัด ชี้โอกาสสำเร็จของโครงการอยู่ที่การประชาสัมพันธ์และภาพรวมเศรษฐกิจ จี้รัฐเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ช่วยคนในประเทศอยู่รอด มีเงินในกระเป๋าและจ่ายจริง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 ลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) ที่เป็นกลุ่มเปราะบางจะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น (ภายใน 5 ปี)และคิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง(EIR) 15% ต่อปี โดยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเรื้อรังคือ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียนที่ไม่เป็น NPL และชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นที่ชำระมาทั้งหมดเป็นระยะเวลานาน

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สิ่งที่ดีเมื่อลูกค้าเข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรังคือ ยังเห็นทางสว่างในการหลุดภาระได้ 3 ปี และ 5 ปี แต่หากจ่ายหนี้ไม่ได้ ส่วนตัวมองว่า น่าจะขยายระยะเวลาอีกหน่อยน่าจะทำได้

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้โอกาสความสำเร็จของโครงการนี้อยู่ที่การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐและเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีหรือยัง ถ้าเศรษฐกิจเริ่มจะดีแล้วมาตรการนี้ดีแน่นอน เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี ในแง่ของลูกจ้างจะทำมาหาได้ระหว่างงานประจำและงานพิเศษ คือ รายได้จากการจ้างงานหรือการจ่ายโอทีจะดีขึ้นหรือนักลงทุน พ่อค้ากล้าลงทุนและจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลต้องทำ 2 ส่วนด้วยคือ

  1. ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หาคนเข้ามาลงทุนทำให้ภาคธุรกิจสะดวก
  2. ช่วยคนในประเทศอยู่รอดได้  มีเงินในกระเป๋าและจ่ายจริง

“โครงการแก้หนี้เรื้อรัง ทั้งแบงก์และลูกค้าได้ประโยชน์ และหนี้จบได้เร็ว โดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15%นั้น ถือว่าเป็นอัตราที่สูง ถ้าไม่มีเอ็นพีแอลก็บริหารได้สบาย และมาตรการนี้เป็นการลดเอ็นพีแอลในอนาคต แม้ในแง่แบงก์อาจจะขาดทุนกำไรบ้าง”นายสุขสันต์กล่าว

สำหรับกรณีเจ้าหนี้ต้องปิดวงเงินสินเชื่อเดิม แต่เมื่อเข้าร่วมมาตรการแล้ว อาจได้รับวงเงินเฉพาะกรณีฉุกเฉินนั้น เมื่อลูกหนี้เข้ามาตรการช่วยเหลือโดยปกติ เจ้าหนี้จะปิดวงเงินเดิมอยู่แล้วและเมื่อเจ้าหนี้รายอื่นเห็นว่า ลูกหนี้เข้ามาตรการช่วยเหลือเขาก็จะปิดวงเงินเดิมเช่นกัน แต่ลูกหนี้เขาสามารถไปใช้ช่องทางอื่น เช่น ไฟแนนซ์นอกระบบหรือซื้อรถได้ เพราะฉะนั้นเครดิตบูโรต้องขยายฐานข้อมูลให้ครอบคลุมในวงที่กว้างขึ้น 

ส่วนตัว สนับสนุนธปท.และเห็นด้วยกับแนวทางมาตรการดังกล่าว เพราะสามารถช่วยให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้ได้ โดยมีระยะเวลากำหนดไว้ชัดเจน นอกจากจะปลดล็อคภาระให้ลูกหนี้ตัวเบา กลับมาเป็นกำลังซื้อแล้ว ยังทำให้เครดิตของประเทศดีด้วย แต่ในทางปฎิบัติรัฐบาลต้องทำให้ประเทศเดินได้ และลูกหนี้มีเงินในกระเป๋าและสามารถชำระหนี้ได้ 

ต่อข้อถามในแง่ของการขายหนี้นั้นนายสุขสันต์กล่าวว่า เจ้าหนี้สามารถนำหนี้ออกประมูลขายได้หมด ทั้งลูกหนี้ปรับโครงสร้างและไม่ได้ปรับโครงสร้างหนี้ ขึ้นกับการต่อรอง เพราะผู้ซื้อหนี้จะมองว่า ทั้งดอกเบี้ยหรือเงินต้นจะเก็บไม่ได้ ในอีก 3 ปีหรือ 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น ผู้ซื้อต้องคำนวณผลตอบแทนอนาคตควรเป็นเท่าไร ในแง่คนซื้อมีภาระแน่นอนคือ จะไม่ได้ดอกเบี้ยระหว่างทาง และไม่มีหลักประกันจะมั่นใจได้อย่างไรว่าแม้ไม่คิดดอกเบี้ยแล้วลูกค้ายังจ่ายชำระอยู่

นายเมธ์ ปุ่มเป้า นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ไทยกล่าวว่า เบื้องต้นมองมาตรการแก้หนี้เรื้อรังจะส่งผลบวกทั้งในส่วนของสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ลูกหนี้และธุรกิจบริหารหนี้ (รับซื้อและรับจ้างติดตามทวงถามหนี้) เนื่องจากเจ้าหนี้กับลูกหนี้มีเวลาชัดเจนในการปิดจบหนี้ แต่ลูกหนี้บางส่วนอาจไม่เข้าโครงการ เพราะกว่าสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะออกหนังสือแจ้ง ลูกหนี้อาจติดสินใจเข้ามาตรการน้อย จึงมีโอกาสที่เจ้าหนี้จะนำมูลหนี้บางส่วนออกประมูลขายซึ่งหากเป็นไปตามแนวทางนี้จะเป็นผลกระทบเชิงบวกกับบริษัท

นายเมธ์ ปุ่มเป้า นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ไทย

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 44 ฉบับที่ 3,978 วันที่ 28 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2567