"เศรษฐา" สั่งออมสินตั้ง "บริษัทบริหารสินทรัพย์" รวบหนี้เรื้อรัง

12 ก.พ. 2567 | 12:02 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2567 | 13:24 น.
744

"นายกฯเศรษฐา ทวีสิน" แถลงผลงาน 2 เดือน แก้หนี้ทั้งระบบ เผยธนาคารออมสิน ตั้ง “บริษัทบริหารสินทรัพย์” ไตรมาสแรกปี 67 รวบหนี้เสียเรื้อรัง ลั่น แก้หนี้จบในรัฐบาลนี้ สั่งกวาดล้าง เจ้าหนี้นอกระบบ ปลดปล่อยลูกหนี้

วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการแถลงข่าวความคืบหน้าผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ว่า ตามที่ได้มอบนโยบายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบเป็นวาระแห่งชาติ

นายเศรษฐากล่าวว่า โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ ให้บูรณาการและประสานงานร่วมกันในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้ ให้กับประชาชนอย่างครบวงจร และแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จให้จบภายในรัฐบาลนี้ 

\"เศรษฐา\" สั่งออมสินตั้ง \"บริษัทบริหารสินทรัพย์\" รวบหนี้เรื้อรัง

2 เดือนแก้หนี้ทั้งระบบคืบ 

นายเศรษฐา กล่าวว่า บัดนี้ ผ่านมาประมาณ 2 เดือนแล้ว ขอถือโอกาสนี้แถลงความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ชี้แจงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นพร้อมแนวทางแก้ไข สำกหรับดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ของการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน ประกอบไปด้วย 3 ข้อหลัก 

นายเศรษฐา กล่าวว่า หนึ่ง หนี้สินที่ได้รับการแก้ไขปัญหาจะต้องครอบคลุมทั้งในส่วนหนี้นอกระบบ และ หนี้ในระบบ ไปพร้อมกัน สอง เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่มีการลงทะเบียนครบถ้วนจะต้องได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 100% สาม ลูกหนี้ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยแล้วทุกรายจะต้องได้รับการพิจารณาสินเชื่อ หรือปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือพื้นฟูศักยภาพในการหารายได้ต่อไป

\"เศรษฐา\" สั่งออมสินตั้ง \"บริษัทบริหารสินทรัพย์\" รวบหนี้เรื้อรัง

แก้หนี้นอกระบบ ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 12,000 ราย

นายเศรษฐากล่าวว่า สำหรับ ผลของการแก้หนี้นอกระบบ ตั้งแต่เปิดรับลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 มียอดผู้ลงทะเบียนที่เป็นลูกหนี้มากกว่า 140,000 ราย ยอดมูลหนี้รวมทั้งสิ้นประมาณ 9,800 ล้านบาท ยอดของรายการที่มีข้อมูลครบและสามารถเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยได้ 21,000 ราย และไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 12,000 ราย คิดเป็น 57% ของจำนวนที่เข้าสู่กระบวนการ และผลจากการไกล่เกลี่ย ทำให้มูลหนี้ลดลงกว่า 670 ล้านบาท ยังถือว่าหนทางข้างหน้ายังท้าทายมากสำหรับทุกหน่วยงาน 

“เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้  กระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่เป็นเหมือนบันไดขั้นแรก ของการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบครั้งนี้  ยังคงต้องเร่งปฏิบัติงานแบบเชิงรุก เร่งหาตัวเจ้าหนี้ และดำเนินการไกล่เกลี่ยให้บรรลุผลให้มากที่สุด”นายเศรษฐากล่าว 

\"เศรษฐา\" สั่งออมสินตั้ง \"บริษัทบริหารสินทรัพย์\" รวบหนี้เรื้อรัง

กวาดล้างเจ้าหนี้นอกระบบปลดปล่อยลูกหนี้ 

นายเศรษฐากล่าวว่า บันไดขั้นที่สอง ของการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระดมกวาดล้างผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ และรับจำนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์โดยผิดกฎหมาย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่  24 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2566  และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 – 24 มกราคม 2567  โดยสามารถจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดมากกว่า 1 พัน 3 ร้อยราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 40 ล้านบาท

“การดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และดำเนินการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่  การกวาดล้างเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมายของพวกท่าน  จะช่วยปลดปล่อยลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากวงจรอันโหดร้ายนี้”นายเศรษฐากล่าว 

\"เศรษฐา\" สั่งออมสินตั้ง \"บริษัทบริหารสินทรัพย์\" รวบหนี้เรื้อรัง

แบงก์รัฐ อย่ากอดกำไรไว้ 

นายเศรษฐากล่าวว่า สำหรับบันได้ขั้นที่สาม ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แก่ลูกหนี้ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยมาแล้ว เพื่อให้สามารถพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่ม และไม่ต้องกลับมาเป็นหนี้นอกระบบซ้ำอีกในอนาคต ปัจจุบันธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ได้มีมาตรการสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้นอกระบบ หลายมาตรการด้วยกัน  ได้กำชับกับธนาคารทั้ง 2 แล้ว ให้ดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ

“ผมอยากให้ธนาคารของรัฐนำเงินกลับไปช่วยเหลือพี่น้องที่ยากลำบากมากกว่ากอดผลกำไรไว้ ในขณะที่อีกหลายครอบครัวกำลังทนทุกข์กับหนี้นอกระบบ ที่ดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนด ปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือ การที่เจ้าหนี้ไม่เข้ามาในกระบวนการเพื่อยืนยันว่ามีหนี้จริง ก่อนให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ร่วมกันทำสัญญาให้ดอกเบี้ยเป็นไปตามกฏหมาย”นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า บันไดขั้นสุดท้าย ที่จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ไม่ให้กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก คือ การสร้างรายได้เพิ่ม ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ  ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมาร่วมกันเสริมทัพ เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน หาอาชีพ  และสร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชน 

\"เศรษฐา\" สั่งออมสินตั้ง \"บริษัทบริหารสินทรัพย์\" รวบหนี้เรื้อรัง

นายเศรษฐากล่าวว่า ในส่วนของหนี้ในระบบนั้น ได้แบ่งกลุ่มลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม บางกลุ่มได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว  แต่บางกลุ่มยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งผมขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

นายเศรษฐากล่าวว่า กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19  (ลูกหนี้รหัส 21) ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้รับการช่วยเหลือโดยปิดบัญชีหนี้เสียแล้ว มากกว่า 630,000 บัญชี มูลหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้กลับมามีสถานะปกติในระบบเครดิตบูโร  และสามารถกลับเข้าสู่ระบบการเงินได้ อีกทั้งยังมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ SMEs แล้วมากกว่า 10,000 ราย มูลหนี้กว่า 5,000 ล้านบาท

ตั้ง AMC รวบหนี้เรื้อรัง

นายเศรษฐากล่าวว่า กลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูงจนเกินไป ไม่ควรเกินร้อยละ 4.75 ซึ่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 80 แห่ง ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาแล้ว ซึ่งคาดว่าการลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ได้กว่า 3 ล้านราย นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิต  ได้เข้าร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้  ในโครงการคลินิกแก้หนี้แล้วมากกว่า 150,000 บัญชี 

นายเศรษฐากล่าวว่า กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง โดยเกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้แล้วมากกว่า 1,800,000 ราย มูลหนี้รวมกว่า 250,000 ล้านบาท ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เข้ามาติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วมากกว่า 6 แสนราย ซึ่ง กยศ. สามารถลดหรือปลดหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ได้

\"เศรษฐา\" สั่งออมสินตั้ง \"บริษัทบริหารสินทรัพย์\" รวบหนี้เรื้อรัง

นายเศรษฐากล่าวว่า กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่มีหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นระยะเวลานาน โดยปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีหลักเกณฑ์การร่วมทุน ระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) แล้ว และจะขยายหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 

“ซึ่งธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเจรจาผู้ร่วมทุน เพื่อเตรียมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อการจัดตั้งแล้วเสร็จ ลูกหนี้กลุ่มนี้จะสามารถโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้การช่วยเหลือแบบผ่อนปรนต่อไป”นายเศรษฐากล่าว