‘จุดสมดุล’ ของนโยบายการเงิน ความท้าทายของธปท.

10 ก.พ. 2567 | 09:36 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2567 | 09:36 น.

‘จุดสมดุล’ ของนโยบายการเงิน ความท้าทายของธปท. : คอลัมน์ มันนี่ดีไอวาย โดยนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

การบริหารเศรษฐกิจของทุกประเทศ มีเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดความสมดุล และไม่ร้อนแรงจนมีการใช้จ่ายที่เกินตัวจนเกิดการก่อหนี้ระดับสูง หรือในทางตรงข้ามการเกิดเศรษฐกิจตกต่ำ มีคนตกงานจำนวนมาก เกิดปัญหาสังคมมากมาย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ใช้ควบคุมสมดุลเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า นโยบายการเงิน

โดยจะมีธนาคารกลางเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งธนาคารกลางจะมีเครื่องมือที่ใช้หลากหลาย อาทิเช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย การซื้อ/ขายพันธบัตรเพื่อเพิ่ม-ลดปริมาณเงินในระบบ หรือการปรับอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ แต่เครื่องมือที่สำคัญและใช้เป็นเครื่องมือหลักเลยก็คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

แล้วอัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร? ทำงานอย่างไร? อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกกำหนดโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางส่งสัญญาณไปยังธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำไปกำหนดอัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น

สิ่งที่ได้รับผลตามมาก็คือ ดอกผลที่จะได้รับจากการลงทุนหากเรามีการเงินออม หรือต้นทุนการเงินที่ต้องจ่ายในกรณีที่เรามีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงิน ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจมีความร้อนแรง เติบโตจากการก่อหนี้ ธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดอุณหภูมิเศรษฐกิจ และเมื่อวงจรเศรษฐกิจตกต่ำ ขาดการจับจ่ายใช้สอย ธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น นั่นเอง

‘จุดสมดุล’ ของนโยบายการเงิน ความท้าทายของธปท.

คำถามต่อมาคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ที่เท่าไรถึงเรียกว่าเหมาะสมและเกิดภาวะสมดุล ก่อนอื่นต้องมีเครื่องมือวัดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ซึ่งจะดูได้จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่จะบอกถึงราคาของสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น (ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ธนาคารกลางประเทศหลักทั่วไปจะกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ระดับไม่เกิน 2% ขณะที่ของไทยจะกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นกรอบที่ระดับ 1-3%

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยตามศักยภาพที่มีการเติบโต 3-4% (Potential GDP Growth) ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสมดุลแล้ว อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงควรอยู่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่สูงกว่าเงินเฟ้อจะถูกเรียกว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Rate) (อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง = อัตราดอกเบี้ยนโยบาย - อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดการณ์ 12 เดือนข้างหน้า)

 

อย่างไรก็ดี สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยในอดีต จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 0.5% -1.0%  ซึ่งในปี 2567 นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไว้เป็น 2 กรณี คือ

  1. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับ 1.5% สำหรับกรณีมีการกระตุ้นผ่านนโยบาย Digital wallet ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสมดุลจะอยู่ที่ 2.0% - 2.5%
  2. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับ 1.2% สำหรับกรณีไม่มีการกระตุ้นผ่านนโยบาย Digital wallet อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสมดุลจะอยู่ที่ 1.7% - 2.2%

สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงิน ยังคงขึ้นอยู่กับมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะต้องพิจารณาจากตัวแปรที่หลากหลายจากเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงใกล้ชิดกันมาก การสร้างสมดุลของนโยบายจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะต้องพิจารณาและส่งสัญญาณที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจต่อไป