ITD เลื่อนจ่ายหุ้นกู้ 2 ปี ต่อลมหายใจได้กี่เฮือก ?

17 ม.ค. 2567 | 10:12 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2567 | 17:42 น.
3.9 k

ประชุมผู้ถือหุ้น"อิตาเลียนไทย" วันนี้ 17 ม.ค.67 คาดโหวตอนุมัติตามที่เสนอ เลื่อนจ่ายหนี้หุ้นกู้ 1.45 หมื่นล้านไปอีก 2 ปี จับตาอนาคต ITD หลังแบงก์ยอมปล่อยกู้เพิ่มให้ โบรกฯ มองไม่พ้นต้องปรับโครงสร้างหนี้ - เติมเงิน จากข้อจำกัดแผนหารายได้ สภาพคล่องตึงตัว - D/E พุ่งแตะ 9 เท่า

KEY

POINTS

  • บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 17 มกราคม 2567 
  • พิจารณา 2 วาระ วาระที่ 1 : พิจารณาผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ,วาระที่ 2 : พิจารณาอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปอีก 2 ปี 
  • ประเมินผลประชุมผู้ถือหุ้นกู้ "อนุมัติผ่าน" ตามข้อเสนอของ ITD
  • ส่องสถานะการเงิน ITD  ภาระหนี้สินกว่าแสนล้านบาท เฉพาะต้นทุนภาระดอกเบี้ยต่อปี 2,000-3,000 ล้านบาท ข้อจำกัดคุณสมบัติในการรับงานภาครัฐ
  • ITD ยังจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้ ( เติมเงิน-แปลงหนี้เป็นทุุน ) 

 


 

วันนี้ (17 ม.ค.2567 ) บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 ทั้ง 5 รุ่น คือ 1.ITD242A,2.ITD24DA 3.ITD24DB 4.ITD254A และ 5.ITD266A หนี้เงินต้นรวม 14,455 ล้านบาท โดยมีวาระสำคัญ 2 เรื่องคือ

วาระที่ 1 :  พิจารณาผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ตามข้อตกลงสิทธิที่ระบุให้บริษัทต้องรักษาอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับไม่เกิน 3 เท่า ซึ่ง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 บริษัทมีอัตราส่วนที่ระดับ 2.89 เท่า 

วาระที่ 2 : พิจารณาอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปอีก 2 ปี และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ โดยปีแรกเพิ่ม 0.25% และปีที่สองเพิ่ม 0.50% จากอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้เดิม

 

ITD เลื่อนจ่ายหุ้นกู้ 2 ปี  ต่อลมหายใจได้กี่เฮือก ?

ไฟท์บังคับ เคาะเลื่อนจ่ายหนี้หุ้นกู้ 2 ปี ?

ผลประชุมวันนี้ ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมความเห็นจากหลายฝ่าย ส่วนใหญ่เห็นว่า จะจบลงในแบบที่ ITD ต้องการ คืออนุมัติการเลื่อนชำระหุ้นกู้ไป 2 ปี เนื่องจากผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะหากโหวต"ไม่ผ่าน" และเกิด cross default แล้ว มีผลให้ ITD ต้องเข้าสู่กระบวนฟื้นฟู โอกาสที่จะได้รับเงินคืนยิ่งน้อยลง ทั้งยังเกี่ยวพันไปถึงกลุ่มผู้ค้าของ ITD ขายวัสดุก่อสร้าง หรือกลุ่มผู้รับเหมารายอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจรับงานต่อ หากเป็นรายเล็กจะส่งผลกระทบตามไปด้วย  

ขณะที่ธนาคารเจ้าหนี้เอง ซึ่งคาดว่ามีหลักประกันรายได้จากงานรับเหมา ซึ่งได้เปรียบผู้ถือหุ้นกู้อยู่มาก หากต้องเข้าสู่การเรียกชำระหนี้โดยพลัน หรือเข้าสู่แผนฟื้นฟู จะเพิ่มระดับความเสี่ยงให้ต้องตั้งสำรองหนี้เพิ่ม จากรายได้ช่วงเข้าแผนฯของ ITD ที่น้อยลง และข้อจำกัดที่ไม่ผ่านคุณสมบัติในการรับงานภาครัฐ

ITD ไม่พ้น"ปรับโครงสร้างหนี้-เติมเงินเพิ่ม"

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ประเมินว่าที่ประชุมฯจะอนุมัติผ่อนผันให้ ITD เลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ไป 2 ปี  ตามเงื่อนไขที่ธนาคารเจ้าหนี้วางไว้  (พักหนี้หุ้นกู้ชั่วคราว) เพื่อจะปล่อยสินเชื่อให้ต่อ เพราะในส่วนของแบงก์หากลูกหนี้ยังจ่ายดอกเบี้ยได้ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นหนี้เสียไม่ต้องกันสำรองหนี้เพิ่ม อย่างไรก็ดี มองในแง่การดำเนินธุรกิจของ ITD ระยะต่อไปยังมีข้อจำกัดอยู่มาก อาทิการเข้าประมูล (bid) งานจากภาครัฐที่ต้องโชว์ความพร้อมด้านการเงิน อาจติดขัดเรื่องคุณสมบัติการเข้าประมูลงาน  

 

"สถานะการเงินของบริษัทฯ จำเป็นต้องใส่เงินทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (D/E) หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(ตามข้อกําหนดสิทธิ) ค่อนข้างตึงตัว แต่หากเจ้าหนี้หุ้นกู้โหวต"ไม่อนุมัติ"ผลจะกระทบในวงกว้างกว่า จะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ (default) และท้ายสุดอาจต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ จากภาระหนี้สินรวมของ ITD ที่มีกว่าแสนล้านบาท" 

ด้านนายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ให้มุมมองเรื่องนี้กับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ตนมองเป็น"ไฟท์บังคับ" ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีทางเลือก ต้องอนุมัติเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ 2 ปี ตามที่ ITD เสนอ และดูจากสถานะการเงินของ ITD ตอนนี้ การเลื่อนจ่ายหุ้นกู้เป็นเพียง"การซื้อเวลา" โดยบริษัทคาดหวังว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะกลับมาออกหุ้นกู้ หรือกู้ยืมเงิน/รีไฟแนนซ์จากธนาคารเจ้าหนี้ซึ่งง่ายกว่าในขณะนี้  

ภาระดอกเบี้ยพุ่ง สวนทางความสามารถทำกำไร

นายกิจพณ กล่าวต่อ ปัญหาหลักของ ITD  คือ ความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นที่อยู่ระดับต่ำเกินไปเพียง 4- 8%  (ควรจะเป็น 2 หลัก) จึงทำให้ไม่มีความสามารถในการใช้หนี้ เมื่อเทียบกับต้นทุนดอกเบี้ยที่เฉลี่ยต่อปี 5.5% หรือตกปีละกว่า 2,000 ล้านบาท และใกล้แตะ 3,000 ล้านบาท  แม้รายได้ในช่วง 4 ปี บริษัทฯจะทำได้สูงระดับ 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี   แต่จากการที่ ITD ประสบปัญหาการรับรู้รายได้จากงานก่อสร้างที่ล่าช้าในช่วงที่เกิดโควิด  ต้นทุนดำเนินการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงเกิดสงครามยูเครนรัสเซีย ทำให้บริษัทไม่สามารถทำกำไรที่มากพอกับภาระหนี้

"การเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ออก 2 ปี เป็นเพียงการซื้อเวลา เทียบกับสถานการณ์ช่วยเกิดโควิดใช้เวลา  3-4 ปี บริษัทยังพลิกฟื้นลำบาก ท้ายสุดบริษัทอาจต้องปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแปลงหนี้เป็นทุนให้เจ้าหนี้  ส่วนเรื่องการเพิ่มทุนมองว่าเป็นไปได้ยาก จากราคาหุ้นที่ปรับลดค่อนข้างมาก " 

สถานะการเงิน ITD ปัจจุบันมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน ( D/E ) ถึง  9 เท่า ขณะที่คู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันอยู่ระดับ 2.5- 3 เท่า และเทียบรายใหญ่อื่น ๆ มีบริษัทย่อยและมีเงินลงทุนอื่นที่สามารถจะแปลงเป็นเงินสดซับพอร์ตบริษัทแม่ได้ เช่นกรณี STEC  ( บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ) ถือหุ้นใน GULF จำนวน 220 ล้านหุ้น (สัดส่วน 1.88%) หากแปลงเป็นมูลค่าคิดเป็น 60-70% ของมาร์เก็ตแคปของ STEC  ณ ปัจจุบัน , CK ( บมจ.ช.การช่าง ) มีหุ้นบริษัทลูกหลายตัว หากบริษัทจำเป็นก็อาจลดสัดส่วนเปลี่ยนเป็นเงินสด  ต่างกับกรณีของ ITD ที่ไม่มีบริษัทย่อยตรงนี้  ขณะที่โครงการซึ่งดำเนินการไปก่อนหน้านี้ " โครงการโปแตช"  ก็ยังลูกผีลูกคน, "โครงการทวาย"  ก็อาจเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า     

นายสุทธิชัย คุ้มวรชัย นักวิจัยการลงทุนอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า ITD คงเตรียมแนวทางไว้แล้วว่า ทั้งกรณีที่หุ้นกู้โหวตอนุมัติให้เลื่อนจ่ายหนี้ หรือกรณีไม่ผ่านโหวตจะเตรียมการอย่างไร  แต่ผลกระทบต่อภาพรวมตลาด กรณีเกิดการผิดนัดชำระหนี้ (default) มองว่าอาจมีบ้างเพราะเป็นบริษัทรายใหญ่ แต่เป็นปัญหาเฉพาะราย ๆไปไม่ใช่ปัญหาระบบ 

"หนี้หุ้นกู้ระยะยาวในระบบมี 9 แสนล้านบาท เป็นกลุ่มไฮบอนด์ยีลด์ ประมาณ 10% โดยเป็นกลุ่มนอนเรตมีแค่ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัญหาหุ้นกู้ที่ผ่านมาเมื่อเทียบทั้งระบบยังไม่น่าห่วง แต่ด้วย ITD เป็นบริษัทรับเหมารายใหญ่ ก็อาจมีผลบ้าง "

ส่องงบการเงิน ITD ล่าสุด

ที่ผ่านมาหนี้สินรวมของ ITD เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่  88,107.74 ล้านบาท เพิ่มเป็น 107,604.88 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566  หรือเพิ่มขึ้น 19,497.14 ล้านบาท  ขณะที่สินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 103,789.90 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เป็น 119,373.34 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 หรือเพิ่มขึ้น 15,583.44 ล้านบาท ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 13,135.08 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เหลือ 8,456.13 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯมีรายได้อยู่ที่ 5.26 หมื่นล้านบาท โดยขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562-2565 จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 เพิ่งพลิกมีกำไรโดยงบ 9 เดือน มีกำไรสุทธิ  379.05 ล้านบาท แต่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ระดับประมาณ 8.9% จากระดับ 4.6% ในปี 2565 เนื่องภาระดอกเบี้ยของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2.2 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ซึ่งเกิดจากภาระหนี้และต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น  ส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จากระดับ 5.1% ในปี 2565

สภาพคล่องตึงตัว - หนี้ครบ 1 ปี ( ก.ย.67 )ทะลุ 2.64 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องที่ตึงตัว โดย ณ เดือนกันยายน 2566 แหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วย 1.เงินสดในมือจำนวน 4.6 พันล้านบาท 2.วงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 8.2 พันล้านบาท และ 3.เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปี 

ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวนทั้งสิ้น 2.64 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.เงินกู้จากธนาคารจำนวน 2.32 หมื่นล้านบาท 2.หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันจำนวน 2.0 พันล้านบาท(รุ่น ITD242A ครบไถ่ถอน 15ก.พ.67 ) วงเงิน 2,000 ล้านบาท  และ 3.หนี้สินจากสัญญาเช่าและหนี้สินทางการเงินอื่น ๆ อีกจำนวน 1.2 พันล้านบาท 

ส่วนหนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระเกินกว่า 1 ปี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566  อยู่ที่ 1.76 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.เงินกู้จากธนาคารจำนวน 5.20 พันล้านบาท, 2. หุ้นกู้ 1.24 หมื่นล้านบาท (หุ้นกู้ 4 รุ่น ITD24DA,ITD24DB,ITD254Aและ ITD266A ครบกำหนด ธ.ค.67 ถึง มิ.ย. 69 ), 3.หนี้สินที่เกิดจากสัญญาและค่าเช่ารับล่วงหน้าอื่น ๆกว่า 6.12 พันล้านบาท และ 4.หนี้สินทางการเงินไม่หมุนเวียนอื่นร่วม 500 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประจำปีนั้นคาดว่าจะอยู่ที่จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 3.0 พันล้านบาท