เกมวัดใจแบงก์ ต่อลมหายใจ ITD แก้เงินขาดมือ

10 ม.ค. 2567 | 14:29 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2567 | 16:31 น.
940

ITD แจงเหตุยอมควัก 108.41 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม แลกเลื่อนจ่ายหนี้หุ้นกู้ 2 ปี หลังเผชิญปัญหาหลายด้าน ส่งผลให้ขาดเงินทุนหมุนเวียน จนต้องเจรจากับเจ้าหนี้ ขอเลื่อนการชําระหนี้ ขยายอัตราส่วนหนี้ต่อทุนเป็น 3.0 เท่าถึงปี 68เจ้าหนี้

หลังจากมีกระแสข่าวการลงขันปล่อยสินเชื่อเติมทุนจากธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งให้กับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)หรือ ITD เพื่อนำมาจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้ได้ตามกำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ในที่สุด ITD ก็ต้องยอมจำนวนด้วยการขอเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 5 รุ่นรวม 14,455 ล้านบาทในวันที่ 17 มกราคม 2567 เพื่อขอขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี โดยยอมควักดอกเบี้ยเพิ่มถึง 108.4125 ล้านบาท เพื่อแลกกับการที่ไม่ต้องผิดนัดการชำระหนี้ กระทบต่อความเชื่อมั่นของบริษัท

จ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม 108 ล้าน

ทั้งนี้ ITD ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ว่า หุ้นกู้ 5 รุ่น ที่จะขยายเวลาออกไปอีก 2 ปี คือ รุ่น ITD24DA มูลหนี้ 2,455 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5.8%  รุ่น ITD24DB มูลหนี้  1,215 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% รุ่น ITD242A มูลหนี้  2,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5.25% รุ่น ITD254A มูลหนี้  6,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5.5% และรุ่น ITD266A มูลหนี้  2,785 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6.20%

ในการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี ในปีแรก ITD จะเพิ่มดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.25% ต่อปี และเพิ่มดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.50% ในปีที่ 2 โดยจะชําระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเพียงครั้งเดียวในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่ ซึ่งการเพิ่มดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้ ITD ต้องมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 108.4125 ล้านบาท จากเดิมที่มีภารดอกเบี้ยจ่ายทั้งสิ้น  810.81 ล้านบาทเท่านั้น

“การลงทุนในหุ้นกู้ปัจจุบันไม่เอื้ออํานวย เป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นนักลงทุน ที่อาจทำให้การออกจําหน่ายหุ้นกู้รุ่นใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน (Roll Over) มีความเสี่ยงต่อบริษัทและนักลงทุนเพิ่มขึ้น จึงพิจารณาขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แทนการออกหุ้นกู้รุ่นใหม่ๆ มาเพื่อทดแทนรุ่นเดิมที่จะครบกำหนดในปี 2567”

รับขาดทุนหมุนเวียน

ITD  ให้เหตุผลว่า หลังสิ้นงวดไตรมาส 2 ปี 2566 สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังคงอยู่ในช่วงปรับตัว รวมถึงโครงการต่างๆของบริษัทยังอยู่ในช่วงดำเนินการหรืออยู่ระหว่างส่งมอบให้กับลูกค้าหน่วยงานภาครัฐ

อีกทั้งปี 2566 ยังมีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่กระทบกับการประกอบธุรกิจ เช่น สถานการณ์สงครามในต่างประเทศ ราคาวัสดุและนํ้ามันที่สูงขึ้น การประกาศขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ต้นทุนการทำงานของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการเมืองในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลล่าช้า ส่งผลกระทบกับโครงการภาครัฐต่างๆ ที่ชะลอตัวลงจากแผนงานเดิม ทำให้บริษัท ซึ่งมีงานภาครัฐจำนวนมาก มีปริมาณงานลดลงไม่เป็นไปตามประมาณการ

“ด้วยเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ ทำให้บริษัทจำเป็นต้องเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ ทั้งเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอผ่อนผันการชําระหนี้และเลื่อนการชําระหนี้ของบริษัทให้สอดคล้องกับความสามารถในการชําระหนี้ของบริษัทด้วย”

ขอขยาย D/E Ratio

นอกจากนั้น บริษัทยังจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาใช้ในโครงการงานต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและใช้เป็นเงินทุน หมุนเวียน ซึ่งการได้สินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินในครั้งนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทผ่านพ้นปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และดำเนินการ ก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ไปได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การจะได้รับสนับสนุนเงินกู้จากสถาบันการเงินมีเงื่อนไขสำคัญว่า บริษัทจะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทร่วมด้วย ซึ่งขณะนี้สถาบันการเงินหลายแห่งในประเทศกําลังพิจารณาให้สินเชื่อใหม่กับบริษัท  แต่จะมีผลกระทบกับข้อกําหนดสิทธิในการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งตามงบการเงินรวมบริษัท ไตรมาส 3 ปี 2566 อัตราส่วนอยู่ที่ 2.893 เท่า หากได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่ จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวสูงขึ้นเกินกว่า 3.0  เท่า ตามที่ข้อกําหนดสิทธิได้จํากัดไว้

ดังนั้นบริษัทจึงเห็นควรเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้พิจารณาผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) โดยให้มีผลตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชี 2566 จนถึงวันสิ้นรอบบัญชีปี 2568 และผ่อนผันให้ผู้ออกหุ้นกู้ดำเนินการเจรจาหรือเข้าทำสัญญาใดๆ กับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,956 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2567