ซีไอเอ็มบีไทย”ห่วง เศรษฐกิจไทยปี 67 เสี่ยงโตต่ำกว่า3%

03 ธ.ค. 2566 | 13:40 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2566 | 13:40 น.

แบงก์ชาติเผย ผลดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ยังส่งผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจจริงไม่หมด คงค้างเหลืออยู่ในสินเชื่อ FIX Rate ย้ำติดตามแบงก์แก้ปัญหาหนี้เสียและ SM “ซีไอเอ็มบีไทย”ชี้ หากไม่มีเงินดิจิทัล เศรษฐกิจไทยเสี่ยงฟุบต่ำ 3% อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ

ปิดดรอบปี 2566 ของ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 29 พฤศิกายน ด้วยมติเอกฉันท์ของกนง. 6 ท่าน ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50%ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและศักยภาพในระยะยาว

ขณะที่การประชุมใน 5 ครั้งที่ผ่านมา เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25%  อน่างต่อเนื่อง รวม 1.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.25% ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 2.50% ช่วงปลายปี โดยช่วงแรกๆ กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวและ การบริโภคภาคเอกชน โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่อง 3.6% ในปี 2566 และ 3.8% ในปี 2567

ประมาณการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2566

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเมื่อวันที่ 27  กันยายน ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายของปี กนง.ได้ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย โดยมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 2.8% ในปี 2566 และ 4.4% ในปี 2567 และล่าสุดปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 เหลือเพียง 2.4% และ 3.2% ในปี 2567 หรืออาจจะขยายตัวถึง 3.8% หากรวมมาตรการดิจิทัล วอลเลต แต่ก็ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.4%

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการ กนง.เปิดเผยว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับ neutral มองในหลายฉากทัศน์ ทั้งเชิงบวกและเชิงลบน่าจะรองรับได้ต่อหลายสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดย Base Line เป็นไปอย่างที่มองไว้ ซึ่งแม้จะมีการปรับลดตัวเลขลงบ้าง ทั้งเงินเฟ้อและประมาณการจีดีพี  แต่ในแง่ของแนวโน้มหลักแล้ว ไม่ได้เปลี่ยนไป

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการ กนง.

 

ทั้งนี้ในแง่การส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยไปยังธนาคารพาณิชย์นั้น อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (MRR) จะอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.6% หรือส่งผ่านประมาณ 60-70% ของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2.0% ซึ่งผลของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นมาในช่วงของปีที่แล้วกว่าจะส่งทอดไปสู่ระบบเศรษฐกิจจริงยังไม่หมด โดยยังเหลือคงค้างอยู่บ้าง เช่น สินเชื่อที่มีลักษณะอัตราดอกเบี้ยคงที่ (FIX Rate) 

ส่วนผลกระทบต่อลูกหนี้นั้น ภาพรวมภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจริง แต่ในกลุ่มเปราะบางและผู้ประกอบการ SME หรือภาคครัวเรือน ที่มีความยากลำบากในการรับภาระ จะมีมาตรการเฉพาะจุดดูแล แต่คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง อย่างที่เห็นชัดจะเป็นเรื่องของรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น และ SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังค้างอยู่ในระดับที่สูง 

“อัตราดอกเบี้ยเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ยังมีสภาวะเศรษฐกิจด้วย ซึ่งมองไปข้างหน้า ทางธนาคารพาณิชย์ก็มีแผนค่อนข้างชัดเจนที่จะจัดการเรื่องหนี้ที่มีปัญหาและหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป”นายปิติ กล่าว

นายปิติกล่าวย้ำว่า ถ้ามองจากวิกฤติโควิด (ปี2562-2563) ที่ผ่านมา 2-3ปี ภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวในองค์รวมต่อเนื่อง ถือว่า เดินมาได้ไกล ทั้งจำนวนผู้มีงานทำ รายได้และจีดีพีกลับสู่ระดับที่เหนือโควิดแล้วและยังมีเสถียรภาพด้วย 

“เราเผชิญกับภาวะช็อคที่เงินเฟ้อสูงทั่วโลก แต่เงินเฟ้อไทยทำได้ดี เห็นได้จากการปรับลดกลับลงมาในระดับกว่า 1% ในปีนี้จากเดือนสิงหาคมของปีที่แล้วที่สูงไปเกือบ 8% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาตรการภาครัฐที่เป็นพระเอกนำ บวกกับนโยบายการเงิน และมาตรการทางการเงินที่ช่วยดูแลให้เศรษฐกิจผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากมาได้ ถือว่าเป็นการฟื้นตัวทยอยขึ้นไปจึงน่าจะเหมาะสมกับการมาดูเรื่อง ศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยา แต่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ที่มีเงินเฟ้อค้างยังอยู่ 4-5% จึงเป็นเหตุผล ทำให้แนวนโยบายของกนง.ไม่จำเป็นต้องกระชากขึ้นแรงมาก เพียงแค่ค่อยๆ กลับมาสู่ระดับที่ใกล้เคียง Neutral”นายปิติ กล่าว

ด้านดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า การส่งออกน่ากลับมาหนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องจากปลายปีนี้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวต่ำ ทำให้ภาพการเติบโตเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ทำให้ธปท.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายต่อไปถึงครึ่งแรกปีหน้า

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยน่าจะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงกลางปีหน้า เพราะหากมีมาตรการแจกเงินดิจิทัล เศรษฐกิจไทยน่าจะร้อนแรงขึ้นและส่งผลต่อเงินเฟ้อบ้าง แต่หากไม่มีเงินดิจิทัล เศรษฐกิจไทยเสี่ยงที่จะฟุบต่ำกว่า 3% อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ มีโอกาสลุ้นที่ธปท.จะกลับมาลดดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนมิถุนายนปีหน้า ซึ่งจะเอื้อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ลดลง ทำให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าและมีเสถียรภาพได้

 “ที่ต้องจับตาคือ ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำ เงินเฟ้อเสี่ยงที่จะขยับขึ้นต่อ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินที่สูงจะกดดันการใช้จ่ายครัวเรือนรายได้น้อย แรงส่งเศรษฐกิจปีหน้าจึงยังอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยว แต่ห่วงว่า จะโตช้ากว่าคาด”ดร.อมรเทพ กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,945 วันที่ 3 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566