ครึ่งปี 66 เอกชนออกหุ้นกู้ 1.14 ล้านล้าน พบ 3 บริษัทผิดนัดชำระ 1.2 หมื่นล้าน

05 ส.ค. 2566 | 12:55 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2566 | 13:17 น.
1.1 k

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนครึ่งแรกของปี 2566 มีมูลค่าคงค้าง 4.86 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากสิ้นปี 2565 ส่วนมูลค่าการระดมทุนทั้งระยะสั้น-ระยะยาว รวมทั้งสิ้น 1.14 ล้านล้านบาท

ฝ่ายตราสารหนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สรุปภาพรวมตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนครึ่งแรกของปี 66 พบว่า มีมูลค่าคงค้างอยู่ที่ 4.86 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.6% จากสิ้นปี 65 

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือหรืออันดับเครดิตระดับ A ขึ้นไป คิดเป็น 84% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งหมด โดยในครึ่งแรกของปี 66 มีมูลค่าการระดมทุน ทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น และระยะยาวรวมทั้งสิ้น 1.14 ล้านล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่า 2.09 ล้านล้านบาท

เนื่องจากผู้ออกตราสารหนี้ได้ทยอยออกและเสนอขายตราสารหนี้เพื่อจำกัดต้นทุนดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมาแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ระยะยาวอายุเฉลี่ย 4.33 ปี ซึ่งระยะเวลาปรับลงเล็กน้อยจากปีก่อนซึ่งอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 5.11 ปี 

ขณะที่ผู้ออกตราสารหนี้รายใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจเงินทุน, หลักทรัพย์, พลังงาน, สาธารณูปโภค และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ชำระหนี้และใช้ในกิจการของบริษัท 

ทั้งนี้ สัดส่วนการเสนอขายกว่า 90% เป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุน (investment grade) ส่วนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (high-yield bond) ได้แก่ กลุ่ม non-investment grade และ unrated ผู้ออกตราสารหนี้จะจัดให้มีหลักประกันเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุน

สำหรับตราสารหนี้ระยะยาวของกลุ่ม invest ment grade และ high yield มีดอกเบี้ยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 3.46% เป็น3.62% และจาก 6.25% เป็น 6.70% ตามลำดับ ตามทิศทางดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น 

โดยตราสารหนี้ ที่มีการเสนอขายส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A ขึ้นไป ยังสามารถขายได้ตามมูลค่าที่ตั้งไว้ จะมีเฉพาะบางบริษัทในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ที่เสนอขายได้ไม่ครบตามจำนวน 

ทั้งนี้ผู้ลงทุนมีความระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น จากการผิดนัดชำระหนี้ของบางบริษัท แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการออกตราสารหนี้ใหม่ เพื่อทดแทนตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด (rollover)

เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายในการระดมทุนไว้มากกว่าจำนวนเงินที่ต้องใช้ rollover ในระดับหนึ่งรวมถึงมีแผนสำรองในการออกหุ้นกู้รุ่นต่อไปเพิ่มเติม และใช้แหล่งเงินอื่น เช่น เงินทุนหมุนเวียนของกิจการ และเงินกู้จากธนาคาร เป็นต้น

ขณะที่ตราสารหนี้กลุ่ม high-yield bond มีการขอขยายวันครบกำหนดอายุ ประมาณ 1-2 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ออกรายเดิมที่เคยขอขยายวันครบกำหนดอายุแล้ว และยังไม่สามารถออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อทดแทนได้ 

โดยส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยข้อมูลสิ้น มิ.ย. 66 มีผู้ออกตราสารหนี้ที่ขอขยายอายุ 14 ราย (38 รุ่น) มูลค่าคงค้าง 13,395 ล้านบาท (คิดเป็น 0.28% ของทั้งระบบ) ซึ่ง 63% อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 

ทั้งนี้ มูลค่าคงค้างการขยายอายุลดลงเล็กน้อย เทียบกับปี 65 ซึ่งอยู่ที่ 14,273 ล้านบาท เนื่องจากมีผู้ออกบางรายไถ่ถอนตราสารหนี้ที่เคยขอขยายอายุ