หุ้นกู้ STARK พ่นพิษ ฉุด GLORY งบไตรมาส 2/66 ขาดทุนอ่วม

04 ส.ค. 2566 | 16:12 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2566 | 16:18 น.

บมจ.รุ่งเรืองตลอดไป ( GLORY ) เผยงบไตรมาส 2/66 พลิกขาดทุน 24.81 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่ม 712% จากงวดเดียวกันของปีก่อน หลังรับรู้ผลขาดทุนทางบัญชีจากการลงทุนหุ้นกู้ STARK จำนวน 16 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกปี 66 ขาดทุน 24.68 ล้านบาท

นายจรัญพัฒณ์ บุญยัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด (มหาชน) หรือ GLORY รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/66 ขาดทุนสุทธิ 24.81 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.09 บาท ขาดทุนเพิ่ม 712.67% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4.05 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.01 บาท

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน ขาดทุนสุทธิ 24.68 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.09 บาท ขาดทุน  425.88% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.57 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.03 บาท
 

หุ้นกู้ STARK พ่นพิษ ฉุด GLORY งบไตรมาส 2/66 ขาดทุนอ่วม รายได้จากการขายและบริการ

โดยบริษัท ฯ แจงผลดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2566 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการเท่ากับ 45.5 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนจำนวน 1.66 ล้านบาท คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4

รายได้อื่น

รายได้อื่นของกลุ่มบริษัทส่วนใหญ่ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมซึ่งเรียกเก็บจากการชำระเงินของลูกค้าสุทธิ ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและผลตอบแทนจากเงินลงทุนในสินทรัพย์สภาพคถ่อง รายได้ค่าเช่า และรายได้ค่าที่ปรึกษาระบบ ERP เป็นต้น โดยรายได้อื่นของกลุ่มบริษัทมีจำนวน 2.51 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ของรายได้รวมของงวดเดียวกัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรายได้อื่นในงวด 6 เดือนแรกปี 2565 ที่จำนวน 0.94 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นเท่ากับร้อยละ 60

 

ต้นทุนจากการขายและการบริการ และกำไรขั้นต้น

งวด 6 เดือนแรก ปี 2566 กลุ่มบริษัทมีต้นทุนขายและบริการจำนวน 26.78ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59 ของรายได้รวมในงวดเดียวกัน ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าจำนวน 6.79 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 34

โดยมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าที่บริษัทวางจำหน่าย และต้นทุนการบริการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนในการซื้อลิขสิทธิ์รรณกรรมจะถูกตัดจำหน่ายโดยวิธีเส้นตรงในมูลค่าที่เท่ากันตลอดระยะเวลาที่บริษัทถือครองลิขสิทธิ์จึงทำให้การรับรู้รายได้และต้นทุนไม่สอดคล้องกันตามระยะเวลา

โดยต้นทุนบริการหลักของบริษัทประกอบด้วยต้นทุนคงที่ซึ่งได้แก่ ค่าลิขสิทธิ์ตัดจำหน่าย ค่าดูแลเว็บไซต์ และต้นทุนผันแปรซึ่งได้แก่ ค่าแปลนิยาย ค่าจ้างพิสูจน์อักษรค่าตอบแทนแก่ผู้เขียนนิยาย เป็นต้น และกลุ่มบริษัทได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนมีนาคม คือ อลิสา (Alisa) ซึ่งเป็น Generative AI รายแรกของประเทศไทย

ปัจจุบันมีผู้เข้าใช้งานในประเทศไทย 1.8 ล้านคน โดยอลิสาสามารถพูดคุยเข้าใจได้คล้ายการคุยกับคน และ สร้างรูปภาพได้ใน AI เดียว มีข้อมูลจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถช่วยลดเวลาทำงานให้กับผู้คนได้จริง โดยตัวอย่างส่วนหนึ่งของสิ่งที่ทำได้ เช่น เขียน โฆษณา เขียนแผนงาน ปรึกษาพูดคุย ขอไอเดียเขียน Code โปรแกรม ช่วยทำงานวิจัย ทำการตลาด สอนหนังสือ สรุปข้อมูลจากไฟล์หรือเว็บไซต์อัตโนมัติ และอื่นๆอีกมากมาย

 

กำไรขั้นต้นของกลุ่มบริษัทสำหรับงวด 6 เดือนแรก ปี 2566 มีจำนวน 18.71 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ร้อยละ 41 ของรายได้จากการบริการในงวดเดียวกัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 52 การปรับตัวที่ลดลงของกำไรขั้นต้น สืบเนื่องมาจาก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท ที่อยู่ในระยะเริ่มต้น ทำให้มีต้นทุนในการพัฒนามากกว่าปกติ ซึ่งเป็นการต้นทุนที่มีมูลค่าสูงในระยะแรกของการเริ่มโครงการ และจะค่อยๆลดน้อยลงตามลำดับ

ค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายและการบริหาร

ค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายของกลุ่มบริษัทสำหรับงวด 6 เดือนแรก ปี 2566 มีจำนวน 14.85 ล้านบาท เมื่อพิจารณาสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายต่อรายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ร้อยละ 31 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าจำนวน 12.10 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากค่าใช้ง่ายในการจัดจำหน่ายสินค้า, ค่าโฆษณา และการทำการตลาดโฆษณาผลิตภัณฑ์ใหม่ Alisa Generative AI ซึ่งเป็นการค่าใช้ง่ายที่ใช้งบประมาณสูงในระยะแรก และจะค่อยๆลดน้อยลง

ค่าใช้จ่ายในการบริหารของกลุ่มบริษัทสำหรับงวด 6 เดือนแรก ปี 2566 มีจำนวน 31.90 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจำนวน 18.90 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับงวด 6 เดือนแรก ปี 2565 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจาก การรับรู้ผลขาดทุนทางบัญชีของหุ้นกู้ STARK ที่กลุ่มบริษัทได้ลงทุนไว้จำนวน 16 ล้านบาท    ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มบริษัทมีกระแสเงินสดคงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก จึงดำเนินการ บริหารสินทรัพย์ โดยหมุนเวียนเงินสดไปลงทุนกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนและหุ้นกู้ ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากปกติ และในช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มบริษัทมีการบริหารการลงทุนในหลายสินทรัพย์ด้วยกัน ซึ่ง หุ้นกู้ STARK เป็นตัวเลือกหนึ่งในการจัดการบริหารสินทรัพย์ ในช่วงเวลาดังกล่าว และในขณะที่ทำการลงทุน หุ้นกู้ STARK จัดเป็นสินทรัพย์ที่มีผลการประเมิน Company Rating อยู่ที่ BBB+ ซึ่งเป็น Investment Grade และ ประกอบกับคำแนะนำการลงทุนจากที่ปรึกษาทางการเงิน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาที่ดูแลด้านการลงทุนบริหารสินทรัพย์ ให้กับกลุ่มบริษัท กลุ่มบริษัทจึงตัดสินใจลงทุนในหุ้นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับหุ้นกู้ STARK ขึ้น กลุ่มบริษัทได้ดำเนินการทยอยขายหุ้นกู้ตัวอื่นๆออก ตามมติของกลุ่มบริษัท เนื่องจากเจตนาหลักของกลุ่มบริษัทในการลงทุนในกองทุนและหุ้นกู้ ที่มีความเสี่ยงต่ำไม่ได้ต้องการผลกำไรจากการลงทุนส่วนนี้เป็นหลัก แต่เป็นการบริหารจัดการสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากปกติ และกลุ่มบริษัทยังคงนโยบายการลงทุนกับการประกอบธุรกิจหลักของบริษัทเป็นนโยบายหลัก และนอกจากนี้ มีการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย อาทิเช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหารของบริษัทย่อย และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจากจำนวนลิขสิทธิ์ที่กลุ่มบริษัทถือครองมากขึ้น

กำไรสุทธิ

กลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิสำหรับงวด 6 เดือนแรก ปี 2566 เท่ากับจำนวน 24.68 ล้านบาท ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 จำนวน 32.25 ล้านบาท มีสาเหตุหลักเนื่องจากกลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนทางบัญชีจากลงทุนในหุ้นกู้ STARK ประกอบกับมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากช่วงแรกของการพัฒนา และนำออกสู่ตลาดของ Alisa Generative AI ส่งผลให้กำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทลดลง