รู้จัก Transition bond ตราสารหนี้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

04 ก.ค. 2566 | 05:05 น.

Transition bond : ตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนประเภทใหม่ ออกโดยธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้จัดเป็นธุรกิจสีเขียวให้สามารถระดมทุน เพื่อใช้ส่งเสริมการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายความตกลง Paris Agreement


จากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น 197 ประเทศทั่วโลกจึงได้ร่วมกันทำความตกลง Paris Agreement โดยมีเป้าหมายที่จะชะลออุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาภายในปี 2050 การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งช่องทางหนึ่งในการระดมทุนก็คือ การออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน เช่น Green bond นั่นเอง

โดยล่าสุด มีการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนรูปแบบใหม่สำหรับธุรกิจที่การดำเนินงานปัจจุบันยังไม่เข้าเงื่อนไขของการเป็น Green bond แต่มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต ให้สามารถระดมทุนเพื่อใช้ส่งเสริมการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายความตกลง Paris Agreement

 

Transition Bond เป็นตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (Sustainable Bonds หรือ ESG Bonds) ประเภทใหม่นอกเหนือจาก Green Bond, Social Bond, Sustainability Bond และ Sustainability-Linked Bond ที่โดย Transition Bond ออกโดยธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้จัดเป็นธุรกิจสีเขียวให้สามารถระดมทุน เพื่อนำไปใช้ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหรือกระบวนการผลิตให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Paris Agreement ในอนาคต

การออก Transition Bond จะอ้างอิงตามหลักการสำคัญ 4 ประการ (Principles) ของ Green, Social และ Sustainability Bond ที่ประกอบด้วย

 

  • 1. วัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุน (Use of Proceeds)
  • 2. กระบวนการที่ใช้ในการประเมินและคัดเลือกโครงการ (Process for Project Evaluation and Selection)
  • 3. การบริหารจัดการเงินที่ได้จากการระดมทุน (Management of Proceeds)
  • 4. การรายงาน (Reporting)

สำหรับผู้ออกที่ต้องการระดมทุนไปใช้กับวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนโดยรวมขององค์กร สามารถอ้างอิงหลักการสำคัญ 5 ประการของ Sustainability-Linked Bond ที่ประกอบด้วย

  • 1. การเลือกตัวชี้วัด (Selection of Key Performance Indicators (KPIs))
  • 2. การกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Calibration of Sustainability Performance Targets (SPTs))
  • 3. คุณลักษณะของตราสารหนี้ (Bond Characteristics) เช่น หากบริษัททำไม่สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วให้แก่นักลงทุน
  • 4. การจัดทำรายงาน (Reporting)
  • 5. การยืนยัน (Verification) จากหน่วยงานภายนอกที่เป็นอิสระ (External Reviewers)

 

นอกจากนี้ สำหรับ Transition Bond ผู้ออกต้องแสดงความมุ่งมั่นหรือข้อผูกพันที่จะมุ่งมั่นสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยผู้ออกต้องจัดทำ Issuer’s Sustainability Strategy ที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางของ Business Model และ Strategy ในอนาคตของบริษัทที่จะมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของ Paris Agreement อย่างมีนัยสำคัญ โดยต้องมีการกำหนดเป้าหมายของแต่ละขั้นตอนการปรับเปลี่ยน Business Model และ Strategy ที่สามารถวัดผลสำเร็จตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้

Transition Bond รุ่นแรกของโลกได้มีการออกไปเมื่อปี 2017 โดยบริษัท Castle Peak Power Company Limited (CAPCO) มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำเงินทุนไปสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมระหว่างก๊าซธรรมชาติและกังหันไอน้ำ จนถึงปัจจุบัน มีการออก Transition Bond แล้ว 12.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.4 ของมูลค่าการออก ESG Bonds ของโลก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมของโลก

ประเทศไทย โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างศึกษาการจัดทำคู่มือ การออกและเสนอขาย Transition Bond เพื่อเป็นช่องทางระดมทุนแก่ผู้ออกในกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงให้สามารถระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้านผู้ลงทุนก็จะได้มีทางเลือกการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อโลกของเรา

รู้จัก Transition bond ตราสารหนี้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

 

ที่มา  :  สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)