แบงก์รัฐเดินหน้าอุ้มลูกหนี้เอ็นพีแอล

03 พ.ค. 2566 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2566 | 17:31 น.

แบงก์รัฐอุ้มลูกหนี้เอ็นพีแอลต่อเนื่อง“ออมสิน”ลุยปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าอ่อนแอต่ออีก 3 แสนราย ทั้งลดดอกเบี้ย-ตัดเงินต้น-เติมทุน “ธ.ก.ส. ”คาดมีลูกค้าเข้าข่ายปรับโครงสร้างหนี้ 1.8 ล้านราย มูลค่ากว่า 5.5 แสนล้านบาท

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของธนาคารออมสินในปี 2566 ออมสินยังคงเดินหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาเรื่องหนี้ ให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการลดดอกเบี้ย ตัดเงินต้นหรือมีการเติมทุนให้กับลูกหนี้บางราย ซึ่งขณะนี้เหลือลูกหนี้ที่ต้องช่วยเหลืออีก 3 แสนราย จากที่ผ่านมามีลูกหนี้อ่อนแอและเข้าสู่มาตรการปรับโครงสร้างหนี้กับออมสินกว่า 1.2 ล้านราย

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

“ที่ผ่านมามีลูกหนี้อ่อนแอเข้าสู่มาตรการปรับโครงสร้างหนี้กับออมสินกว่า 1.2 ล้านราย ซึ่งเราดูแลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกหนี้แข็งแรงและมีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ทั้งการลดดอกเบี้ย และการตัดเงินต้น หรือลูกหนี้บางรายต้องการเติมทุน เราก็มีการใส่เงินให้จนทำให้ปีนี้เห็นสัญญาณลูกหนี้เริ่มกลับมาชำระหนี้ได้ปกติเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเหลือลูกที่ยังต้องช่วยเพียง 3 แสนราย ”นายวิทัยกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) อยู่ที่ระดับ 2.6% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ระดับ 2.55% คาดว่าภายในปี 2566 นี้ สัดส่วนเอ็นพีแอลของออมสินจะไม่เกิน 3% ซึ่งยังถือว่า อยู่ในระดับที่ต่ำหากเทียบกับสัดส่วนสินเชื่อทั้งหมด

นอกจากนั้นในปี 2566 ออมสินยังมีเป้าหมายชัดเจนในการดำเนินงานช่วยเหลือสังคมและช่วยเหลือรากหญ้า ผ่านโครงการสร้างงานสร้างอาชีพ เฟสใหม่ หลังจากที่ผ่านมาธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนรายย่อย ในการช่วยเหลือเงินทุน เพื่อนำไปสร้างอาชีพใหม่ รวมทั้งให้ความรู้ พัฒนาทักษะอาชีพประชาชนกว่า 10,000 ล้านบาท อีกทั้งจะมีการสนับสนุนด้านการออมเพื่อรองรับวัยเกษียณมากขึ้น ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทยอยออกมา

แบงก์รัฐเดินหน้าอุ้มลูกหนี้เอ็นพีแอล

พร้อมกันนี้ จะมีการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขยาดย่อม(เอสเอ็มอี)ให้เข้าถึงแหล่งทุน เพื่อให้กลับมาประกอบธุรกิจได้อีกครั้ง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายผ่านบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือธนาคารออมสินที่สนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ทั้งนี้ไตรมาสแรก ปี 2566 บริษัท มีที่ มีเงิน ปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้กว่า 12,000 ล้านบาท และในช่วงสิ้นปีนี้ ออมสินจะมีการจัดตั้งนอนแบงก์ ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุน แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ยังดูแลลูกหนี้ที่อ่อนแอผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนจนถึงสิ้นปี 2566 ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และปัจจุบันธ.ก.ส. อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียและลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงจะตกชั้นเป็น NPL เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าภายใน 1 เดือนนี้จะมีมาตรการออกมาดูแลลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวตามนโยบายของ นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้เสียเกษตรกร

“เราได้พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และสถิติการชำระหนี้ของลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมา จึงประเมินว่า จะมีลูกหนี้เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ปี 2566 จำนวน 1.8 ล้านราย คิดเป็น 4.72 ล้านบัญชี และเป็นยอดสินเชื่อกว่า 554,365 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ดี แนวโน้มเอ็นพีแอลของธ.ก.ส.ลดลงต่อเนื่องจากวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 14.66% ปัจจุบัน ณ สิ้นปีบัญชี 2565 (1 เมษายน 2565-31 มีนาคม 2566)เอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับ 7.68%และในปีบัญชี 2566 (1 เมษายน 2566-31 มีนาคม 2567) ธ.ก.ส.มีเป้าหมายลดเอ็นพีแอลให้ลงมาอยู่ที่ระดับ 6.70%

ด้านนายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)กล่าวว่า ธอส.ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดทำมาตรการที่ 23 [M23] สำหรับลูกค้าสถานะเอ็นพีแอลหรือลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นเอ็นพีแอลที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการช่วยเหลือ หรืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้สามารถใช้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ และเงินงวดผ่อนชำระต่ำเป็นระยะเวลานานสูงสุด 2 ปี 

นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ระหว่างการใช้มาตรการจำนวนถึง 13,634 บัญชี วงเงิน 15,670 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1 ของปี 2566 ธนาคารมีสัดส่วนเอ็นพีแอลจำนวน 66,701 ล้านบาท คิดเป็น 4.12%ของยอดสินเชื่อรวม ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.38% จากสิ้นปี 2565 ที่มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับ 3.74% อย่างไรก็ดี ธอส.มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญกว่า 134,135 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อเอ็นพีแอล สูงถึง 201.10%

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,884 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566