Wind of Change : ประเทศไทยซ้ายหัน

23 เม.ย. 2566 | 07:55 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2566 | 08:08 น.
677

ปี 1989 การเมืองและการปกครองของสหภาพโซเวียตรัสเซียกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงเนื่องมาจากการ “ปฏิรูปการปกครอง” ของประธานาธิบดีโกบาช้อบที่เน้นเรื่องของ “ความโปร่งใสและการเป็นประชาธิปไตย” แทนที่จะเป็นเผด็จการแบบคอมมิวนิสต์เดิม

ในส่วนของประชาชนเองนั้น  ได้มีการจัดคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ที่กรุงมอสโควคือ “Moscow Music Peace Festival” หรือ “เทศกาลดนตรีเพื่อสันติภาพแห่งมอสโคว” ซึ่งในงานนั้นวงดนตรีของเยอรมันคือ The Scorpions ได้รับเชิญจาก"โกบาช้อบ" ให้มาร่วมแสดงด้วยและก็เป็นครั้งแรกที่วงดนตรีจากเยอรมันได้มาแสดงที่รัสเซียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  

เพลงที่แสดงในครั้งนั้นเพลงหนึ่งคือ  “Wind of Change” ซึ่งพรรณนาถึงบรรยากาศของมอสโควที่กำลังอบอวนไปด้วยความฝันและเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ที่จะได้อยู่ในโลกแห่งความรุ่งโรจน์ในอนาคตที่กำลังมาถึง  มันเหมือนสายลมในค่ำคืนฤดูร้อนที่พัดโบกผ่านอดีตกาลสู่อนาคตที่แสนมหัศจรรย์ที่ซึ่งโลกจะมีสันติภาพและเสรีภาพและคนใกล้ชิดกันดุจพี่น้อง

และนี่ก็คือ “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่ได้ “พัดผ่านไปสู่เยอรมันตะวันออก” เป็นที่แรกเมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลงในอีก 3 เดือนต่อมา  ไม่ต้องพูดถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในอีก 2 ปี  พร้อม ๆ กับการล่มสลายของรัฐเผด็จการในยุโรปตะวันออกเกือบทั้งหมด  และรวมไปถึงระบบ Apartheid ที่ให้อำนาจคนขาวเป็นใหญ่ในอาฟริกาใต้ที่ต้องล้มลงในปี 1994

เพลง Wind of Change กลายเป็น “เพลงชาติ” ของการสิ้นสุดของสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีกับโลกสังคมนิยม  บางคนโดยเฉพาะที่เป็นชาวเยอรมันบอกว่า  Wind of Change เป็น “เพลงแห่งศตวรรษ” เพราะมันปลดปล่อยเยอรมันตะวันออกให้กลับมาอยู่กับตะวันตกในโลกเสรีโดยไม่ต้องมีสงคราม 

ไม่ว่าจะเป็นอะไร  คำว่า Wind of Change มีความหมายถึงกระแสของความคิดหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ  ที่มีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะทางการเมืองที่คนไม่คิดว่าจะเปลี่ยนได้  ใครจะไปคิดว่ากำแพงเบอร์ลินที่แข็งแกร่งและไม่มีใครสามารถจะหลุดรอดไปได้จะพังทลายในชั่วข้ามคืนโดยไม่ต้องใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มแม้แต่นัดเดียว  แต่เกิดขึ้นเพราะคนเยอรมันตะวันออกเปลี่ยนความคิดว่า  กำแพงไม่ควรจะมีอยู่ต่อไป  เช่นเดียวกับระบบการปกครองที่ประชาชนไม่ต้องการแล้ว

เหตุการณ์และปรากฎการณ์ทางการเมืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทยนั้น  ผมคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องและ “รุนแรงมาก”  ไม่ใช่เป็นความรุนแรงทางกายภาพประเภทเลือดตกยางออก  แต่เป็นการเปลี่ยนแปลง “ภายในจิตใจ” ที่ลึกซึ้งอานิสงค์จากการแพร่กระจายของข่าวสารข้อมูลที่มีไม่จำกัดและไม่มีใครสามารถขัดขวางหรือกีดกันได้อีกต่อไป  เช่นเดียวกับการที่คนไม่เห็นหรือไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นจนกระทั่งถึงวันที่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะถูกแสดงออกผ่านการกระทำบางอย่างรวมถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ  “การเลือกตั้ง” ที่อาจจะกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อไม่นานมานี้  เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนกำลังเปลี่ยนไป  โดยที่พวกเขาต้องการเลือกคนที่เป็นตัวแทนความคิดของตนเอง  และไม่ได้เลือกคนที่จะมาเป็น “นาย” หรือคนที่จะมาช่วยเหลืออนุเคราะห์เวลาที่ตนเองมีปัญหา  พูดง่าย ๆ  เลือกคนที่จะเข้ามาบริหารประเทศที่มีความสามารถและอุดมการณ์ตรงกับตนเองซึ่งก็เป็นแนวทางที่มักจะเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว  เช่น  จากพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ “ขวาหรือซ้าย” เป็นแนวเผด็จการอำนาจนิยมหรือแนวเสรีนิยมประชาธิปไตย  เป็นต้น  แทนที่จะเลือกบุคคลที่ตนเองชื่นชอบหรือคนที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างในอดีต

การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นั้น สัญญาณทุกอย่างดูเหมือนจะคล้ายกับการเลือกตั้งผู้ว่ามากเพียงแต่ว่าเป็นระดับทั้งประเทศ  ซึ่งก็อาจจะทำให้คนคิดว่าในต่างจังหวัดประชาชนอาจจะคิดไม่เหมือนกัน เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่อาจจะยังเลือกตัวบุคคลประเภท  “บ้านใหญ่” มากกว่าจะคิดถึงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง  ดังนั้น  เรื่องของการชนะแบบ  “แลนด์สไลด์” อย่างที่เลือกผู้ว่าคงไม่เกิดขึ้น

แต่นั่นอาจจะเป็นความคิดทางการเมือง “รุ่นเก่า แม้ว่าจะเพิ่งผ่านมาไม่กี่ปี  ขณะนี้เราอาจจะอยู่ในสถานการณ์  “Wind of Change” ที่การเมืองไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  คนกำลังเลือกผู้แทนที่มีอุดมการณ์ที่ตนเองชอบหรือต้องการมากกว่าการเลือกคน “บ้านใหญ่” และผลโพลที่มีการสำรวจจนถึงประมาณ 1 เดือนก่อนเลือกตั้งบอกว่าคนไทยกำลังสนใจหรือเลือกพรรคที่มีอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยมากกว่าอนุรักษ์นิยมอย่างมาก  และตัวเลขที่ผมเห็นนั้น  จะทำให้จำนวน ส.ส. ของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งมากจนสามารถตั้งรัฐบาลได้อย่างเด็ดขาด  ลองมาวิเคราะห์ผลจากโพลดู

สมมุติว่าพรรคแรกได้คะแนนเสียงพรรคทั่วประเทศตามโพลคือได้ 45% พรรคอันดับสองของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยได้ 25%  ก็แสดงว่าฝ่าย “ซ้าย” จะมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ 70 คน  “ฝ่ายขวา” จะได้ส.ส. ไม่เกิน 30 คน ในขณะที่ ส.ส. เขต ตามโพลก็ออกมาแบบเดียวกันคือ  45% และ 25% ตามลำดับ  ในขณะที่พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดจากโพลคือ 12% สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะแตกต่างกับปาร์ตี้ลิสต์  เพราะในการแข่งขันระดับเขตนั้น  เฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตเท่านั้นที่จะได้เป็น ส.ส. คนที่ได้คะแนนอันดับสองจะไม่ได้อะไรเลย  เป็นคะแนน “ตกน้ำ” 

ดังนั้น  ถ้าทุกเขตทั่วประเทศ 400 เขต  ได้คะแนนในอัตราส่วนเท่ากันทั้งประเทศ  พรรคฝ่ายซ้ายอันดับ 1 ที่มีคะแนน 45% ก็จะได้ ส.ส.ไปทั้งหมด 400 คน กลายเป็นแลนด์สไลด์ได้ ส.ส. 445 คน จาก 500 คน  แต่ความเป็นจริงนั้น  แต่ละเขตก็มีผู้สมัครที่เป็น  “บ้านใหญ่” มีคะแนนนิยมส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับพรรค  ทำให้เขตนั้นเขาอาจจะได้คะแนนสูงอาจจะเกิน 50% ของคะแนนทั้งหมดในเขตและเป็นผู้ชนะได้เป็น ส.ส. แม้ว่าคะแนนที่ได้จากชื่อพรรคจะมีน้อยกว่าหรือน้อยมากก็ได้

สมมุติว่าพรรคอันดับหนึ่งนั้น  มีบางเขตที่คะแนนเสียงไม่ดีได้ไม่ถึงค่าเฉลี่ยที่ 45%  อาจจะได้แค่ 30% ซึ่งอาจจะมาจากคะแนนพรรคเป็นหลักแต่คะแนนส่วนตัวแทบไม่มีเลย  พรรคอันดับ 2 ได้คะแนน 35% โดยมาจากคะแนนพรรค 25% และคะแนนส่วนตัวอีก 10%  ผลก็คือ  เขตนี้พรรคอันดับ 2 ก็จะชนะพรรคอันดับ 1 ได้เป็น ส.ส. 

เช่นเดียวกัน  พรรคอันดับ 3 ถึงประมาณ 5 หรือต่ำกว่านั้นก็มีสิทธิที่จะได้ ส.ส. แม้ว่าคะแนนเสียงจากพรรคจะมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย  อย่างไรก็ตาม  พรรคอันดับ 3 นั้น  โอกาสก็ยังมีอยู่บ้างเนื่องจากคนเชื่อว่าเป็นตัวแทนของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่คนรุ่นเก่าและคนในบางภาคเช่น ภาคใต้  จำนวนมากยังเชื่อมั่นและยอมรับอยู่

ลองมาสมมุติต่อว่า  ตัวเลขที่พรรคอันดับ 1- 5 จะได้ ส.ส. เขต  คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของส.ส.เขตทั้งหมดเท่าไร  อิงจากโพลตัวเลขคะแนนรวมของทุกเขตหรือทั้งประเทศ โดยอัตราส่วนแบบ “กำปั้นทุบดิน” ของผมก็คือ อันดับ 1 จะได้ ส.ส. เขต 60% ของส.ส.เขตทั้งหมด 400 คน อันดับ 2 ได้ 15% อันดับ 3 ได้ 10% อันดับ 4 และ 5 ได้พรรคละ 5% ก็จะพบว่า  พรรคอันดับ 1 จะได้ ส.ส.เขต 240 คน อันดับ 2 ได้ 60 คน  อันดับ 3 ได้ 40 คน  อันดับ 4 และ 5 ได้พรรคละ 20 คน

และเมื่อรวมกับส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดของแต่ละพรรคก็จะพบว่า พรรคอันดับ 1 น่าจะได้ส.ส.ทั้งหมด 285 คน  เป็น  “แลนด์สไลด์”  อันดับ 2  ได้ประมาณ 85 คน  อันดับ 3 ได้ 51 คน  อันดับ 4 ได้ 25 คน  อันดับ 5 ได้ 23 คน  รวมแล้ว 469 คน  ที่เหลืออีก 31 คนกระจายไปอยู่ในพรรคเล็กพรรคน้อยที่น่าจะมีส.ส. พรรคละไม่เกิน 5 คน

ประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นรัฐบาล “ฝ่ายซ้าย” อ่อน ๆ  และสภาจะประกอบไปด้วยพรรคใหญ่ไม่เกิน 3 พรรคที่มี ส.ส. เกิน 50 คน  และทั้งหมดนี้ก็เป็นการประเมินตัวเลข ส.ส. จากโพลที่  “ยังไม่นิ่ง” แต่ภาพใหญ่ก็คงจะไม่เปลี่ยน  ผมไม่รับประกันความถูกต้อง และไม่ซีเรียส  เรียกว่าเป็นการ “เล่นสนุก” เหมือนการทายผลผู้แพ้-ชนะในมหกรรมฟุตบอลโลกมากกว่า