รู้จัก EEM ที่จะเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้ง 2566 ในไทย

21 เม.ย. 2566 | 03:26 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2566 | 09:51 น.

บรรยากาศการเลือกตั้ง 2566 ของประเทศไทยกำลังคึกคัก ต่างชาติเองก็ให้ความสนใจมากเช่นกัน จากกรณีข่าวที่ว่าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ ได้แจ้งความประสงค์จะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง (EEM) เข้ามาสังเกตการณ์ในไทย เรามาดูกันว่า บทบาทและภารกิจของ EEM คืออะไร

 

จากประเด็นข่าว คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย แจ้งความประสงค์มายัง กระทรวงการต่างประเทศ ขอส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง หรือ Election Expert Mission (EEM) ของสหภาพยุโรป (EU) จำนวน 2-4 คน เข้ามาติดตามการเลือกตั้งทั่วไปของไทย ในปีนี้ นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะอียูมีการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในหลายประเทศอยู่แล้ว ไม่ได้จำกัดเฉพาะประเทศไทย

เพียงแต่เป็นที่สังเกตว่าส่วนใหญ่ประเทศที่อียูส่งคณะเข้าไปสังเกตการณ์จะเป็นประเทศที่เคยมีประวัติการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งนอกจากไทยแล้วยังได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา ติมอร์เลสเต รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกาและแอฟริกา เช่น เอกวาดอร์ โซมาเลีย และเคนยา เป็นต้น

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ European Union External Action ของทางการอียู ระบุว่า ระหว่างปี ค.ศ. 1993 ถึง 2022 นั้น มีการส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง (EEM) และคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (Election Observation Missions หรือ EOM) เข้าไปปฏิบัติภารกิจในมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการเข้าไป “ประเมินกระบวนการเลือกตั้ง” ในด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของระบอบประชาธิปไตย และจะมีการทำรายงานการประเมิน หรือ final report ออกมา

วัตถุประสงค์หลักคือการเข้าไป “ประเมินกระบวนการเลือกตั้ง” ในด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของระบอบประชาธิปไตย

ซึ่ง การประเมินกระบวนการเลือกตั้งที่ว่านี้ ครอบคลุมถึง

  •  สถานการณ์ทั่วไปด้านการเมืองและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้ความรุนแรงในการเลือกตั้ง
  • การให้ความเคารพต่อเสรีภาพพื้นฐานที่จำเป็นต่อการจัดการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย เช่น เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น
  • กรอบกฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลกระบวนการเลือกตั้ง ครอบคลุมถึงการยื่นร้องเรียนและการอุทธรณ์
  •  กลไกของหน่วยงานบริหารจัดการการเลือกตั้ง ตั้งแต่องค์ประกอบ โครงสร้าง การดำเนินงาน ความเป็นกลาง ความพร้อม ตลอดจนความมั่นใจที่ประชาชนและบรรดาพรรคการเมืองมีต่อหน่วยงานดังกล่าว
  • การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและการใช้เงินด้านการหาเสียงเลือกตั้ง
  • การนำเสนอข่าวการเลือกตั้งทั้งในสื่อหลักดั้งเดิมและโซเชียลมีเดีย
  • การลงทะเบียนเลือกตั้ง
  • การลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
  • การลงทะเบียนพรรคการเมืองและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
  • ความปลอดภัยในกระบวนการเลือกตั้ง
  • การใช้ระบบเลือกตั้งออนไลน์(ถ้ามี)
  • การมีส่วนร่วมของสตรีในกระบวนการเลือกตั้ง
  • การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของชาติพันธุ์ต่างๆและชนกลุ่มน้อย คนต่างศาสนาและคนในชนบท
  • การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ
  • การเข้ามีส่วนร่วมสังเกตการเลือกตั้งของพลเรือน เอกชนและองค์กรภายในประเทศ
  • การให้ความสนับสนุนของอียูและนานาชาติในกระบวนการเลือกตั้ง
  • กระบวนการลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนน และการประกาศผลการเลือกตั้ง
  • แง่มุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้ง

ระหว่างปี 1993 ถึง 2022 อียูส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง (EEM) และคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (EOM) เข้าไปปฏิบัติภารกิจในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ได้...ไทยไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ ในปี 2561 เคยเป็นข่าวใหญ่ในไทย เมื่อครั้งนั้นอียูส่งคำขอมาว่า จะส่งคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (Election Observation Mission หรือ EOM) จำนวนกว่า 200 คนเข้ามาในประเทศไทย แตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ ที่อียูส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง (Election Expert Mission หรือ EEM) เข้ามาสังเกตการณ์เพียง 4-5 คนเท่านั้น

 โดยบริบทของสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นคือ ไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารที่ยังคงมีอำนาจเต็ม ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมาจากระบอบรัฐประหาร ท่ามกลางข้อกังขาว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารจะสืบทอดอำนาจ เงื่อนไขเหล่านี้ ทำให้นานาประเทศจับจ้องการเลือกตั้งของไทยครั้งนั้นว่า จะเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องการเข้ามาสังเกตการณ์กันเป็นพิเศษ

กรณีดังกล่าว ทำให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงเวลานั้น (และก็ยังคงเป็นในช่วงเวลานี้) ต้องออกมาแสดงท่าทีชัดเจนว่า

“การเลือกตั้งเป็นกิจการภายใน” แต่ละประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องให้ต่างชาติเข้ามาจับตามอง และว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 62 ถือเป็นการนับหนึ่งใหม่ การดูแลปกครองตัวเองที่ยังต้องให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์จึงไม่เป็นมงคลของการเริ่มต้นใหม่

ในครั้งนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่า การที่ต่างชาติจะเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ก็ต่อเมื่อเห็นว่าประเทศนั้นมีปัญหา ดังนั้น มันอยู่ที่ว่าเราอยากเห็นประเทศเราเป็นประเทศที่มีปัญหาในสายตานานาชาติหรือไม่

“ไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องการจัดการเลือกตั้ง เราทำกันเองได้ และสำเร็จมาหลายครั้งแล้ว มันน่าอดสูที่เราจะต้องไปอาศัยคนอื่นตลอดเวลา”

ในปีนั้น นายดอนย้ำจุดยืนปฏิเสธ โดยบอกว่า ตัวเลขผู้สังเกตการณ์มากถึง 200 คนเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ

ท้ายที่สุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้ในฐานะผู้แทนประเทศในอียู ไม่ใช่ฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง หรือ EEM

ทั้งนี้ ข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้ว่า นับตั้งแต่ที่ กกต.อนุญาตให้ต่างชาติขอเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในไทยได้ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมานั้น ทางอียูได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในไทยแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2554 และ 2557

การวิจารณ์ต้องอยู่บนความเข้าใจที่ลึกซึ้ง

ต่อคำถามที่ว่า การเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งของอียูในประเทศต่างๆ ได้ส่งผลต่อสถานการณ์การเลือกตั้งของประเทศนั้นๆ อย่างไรหรือไม่ ได้มีการหยิบยกการเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งของอียูในประเทศเคนยา ปี 2017 (พ.ศ.2560) เป็นกรณีศึกษา

โดยปีนั้น อียูส่งคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้งเข้าไปในเคนยา มีผู้สังเกตการณ์ระยะยาวจำนวน 30 คน ไปเคนยาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2560 และในวันเลือกตั้ง (8 สิงหาคม 2560) มีผู้สังเกตการณ์ระยะสั้นตามไปสมทบอีก 32 คน

ปรากฏว่า ภายหลังการเลือกตั้ง มีการออกรายงาน final report วิจารณ์การจัดการเลือกตั้งดังกล่าวในเชิงลบ คณะผู้สังเกตการณ์เสนอข้อสมควรปรับปรุงแก้ไขหลายประเด็น ทั้งในเรื่องความเป็นอิสระของกลไกต่างๆ การแก้กฎหมายให้เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง การทำงานของกกต. เคนยา การทบทวนระบบเลือกตั้ง ฯลฯ

รายงานของคณะผู้สังเกตการณ์สรุปภาพการเลือกตั้งของเคนยาว่า ชาวเคนยาเริ่มต้นด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยม แต่ลงเอยด้วยความผิดหวังและการเผชิญหน้า ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงก็คือนั่นเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของเคนยาภายหลังความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝังลึก มีประชาชนถูกสังหารถึง 3,000 คนก่อนหน้านั้นราว 6 ปี ซึ่งควรต้องถือว่าเคนยาเก่งมากแล้วที่สามารถจัดเลือกตั้งขึ้นได้ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าว

สายตาและมุมมองของคณะบุคคลภายนอกเป็นเรื่องที่ควรรับฟังไว้ แต่ก็ต้องตั้งอยู่บนการเข้าใจบริบทของประเทศนั้นๆอย่างลึกซึ้งด้วยเช่นกัน จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ข้อมูลอ้างอิง

ภาพจาก EU Election Observation Mission