E-Day: เคลื่อนทัพสู่ทำเนียบ

25 มี.ค. 2566 | 18:12 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2566 | 18:54 น.

E-Day หรือ Election Day กำหนดการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อที่จะเลือกตั้ง ส.ส. และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในเวลาไม่เกิน 2 เดือนนับจากวันนี้นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่จะกำหนด “อนาคต” ของประเทศไทยว่าเราจะไปทางไหน จะ “ก้าวหน้าหรือถอยลงคลอง”

ในระยะยาว ถ้าจะให้เทียบกับสงครามโลกครั้งที่สองก็คือ  การรบหรือการต่อสู้ในครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่บอกว่าโลกหรือประเทศไทยจะสามารถยืนอยู่อย่างมั่นคง  มีการปกครองที่ราบรื่นและทุกฝ่ายเคารพยอมรับใน “ระเบียบ” ที่ยุติธรรมมีเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในฐานะของความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะเกิดมาในฐานะอย่างไรและเชื้อชาติไหน

ในสงครามโลกครั้งที่ 2  ฝ่าย “เผด็จการอำนาจนิยม” นำโดยเยอรมันชนะฝ่าย “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ใน “ยกแรก” สามาถยึดยุโรปได้เกือบทั้งหมด  แต่หลังจากนั้นก็เริ่มสะดุดและถดถอยโดยเฉพาะการรบกับสหภาพโซเวียตรัสเซีย  จนถึงวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกาได้กำหนดวัน  “D-Day” ที่จะ “ยกพลขึ้นบก” ที่ชายหาดนอร์มังดีของฝรั่งเศส  และหลังจากนั้นก็บุกตะลุยจนเข้ายึดกรุงเบอร์ลินสำเร็จ  เยอรมันพ่ายแพ้อย่างยับเยิน  และโลกก็กลับสู่ความเจริญก้าวหน้าและ “สงบสุข” และมีระเบียบโลกที่เป็นที่ “ยอมรับ” อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
 

การเลือกตั้งในปี 2566 นี้ ซึ่งผมเรียกว่า “E-Day” หรือ “Election Day” จะเป็นวันสำคัญที่จะ “ชี้ชะตาอนาคตของประเทศไทย” หลังจากที่เราเคยเป็นประชาธิปไตยบ้างและอำนาจนิยมบ้างสลับกันไปมาจนกระทั่งถึงเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้วที่เรา “จอด” อยู่ที่การเป็นอำนาจนิยมมายาวนานและก็ยังไม่รู้ว่าจะออกจากวังวนนั้นได้ไหมจนถึงเมื่อเร็ว ๆ  นี้  เพราะระบบโครงสร้างของประเทศถูก  “ล็อก” เอาไว้ตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 ที่มีการใช้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากมากจนแทบเป็นไปไม่ได้

การรบหรือการต่อสู้เพื่อ “ปลดปล่อย” หรือทำให้ประเทศไทยเป็น “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” นั้น  เริ่มอย่างจริงจังและนำโดย “คนรุ่นใหม่” เมื่อประมาณ 4-5 ปีมาแล้วเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2562 ที่มีการตั้งพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่เพื่อแข่งขันในการเลือกตั้ง  ซึ่งผลก็คือ  สามารถได้ ส.ส. จำนวนมากอย่าง “น่าตกใจ” โดยเฉพาะในสายตาของฝ่ายที่ “คุมอำนาจ” ของประเทศมาช้านาน  ดังนั้น  พวกเขาคิดว่าจะต้องรีบ  “ตัดไฟแต่ต้นลม” โดยการ “ยุบพรรค”  แต่แล้ว  การรบหรือการต่อสู้กลับไม่สงบลง  “ไฟ” ของการต่อสู้กลับลุกโชนขึ้นจน “ดับไม่ได้” 

การที่จะอธิบายการรบหรือการต่อสู้ทางการเมือง “ยุคใหม่” ของไทยนั้น  ผมจะอุปมาอุปไมยว่า  การต่อสู้นั้นเหมือนในสงครามจริงที่จะต้องมีกองกำลังหรือกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ  

โดยกองทัพบก ก็คือจำนวนคนทั้งที่เป็นคนธรรมดาสามารถทำได้แค่ออกเสียงในการเลือกตั้งและคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจและแต่งตั้งให้คนอื่นในฝ่ายตนเองมีอำนาจการปกครองเช่น ส.ว. ส.ส. ข้าราชการโดยเฉพาะตำรวจและทหารที่มีอำนาจและถืออาวุธ  เป็นต้น

 

กองทัพเรือก็คือ  กฎเกณฑ์ต่าง ๆ  ทางการเมือง  ซึ่งแน่นอน  รวมถึงรัฐธรรมนูญ  กฎเกณฑ์หรือกติกาการเลือกตั้ง  ระบบยุติธรรมทั้งหมด  รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่

กองทัพอากาศ  ซึ่งก็คือเรื่องของเหตุการณ์  ความจริงหรือความเชื่อและความคิดที่ถูกส่งออกไปเพื่อที่จะเปลี่ยนจิตใจของคนทั้งหลายให้มาเป็นพวกของฝ่ายตน

ทั้ง 3 กองทัพนั้น  ในอดีต  ฝ่ายที่เรียกว่า “อนุรักษ์นิยม” ซึ่งบ่อยครั้งก็เป็น “อำนาจนิยม”  ด้วยนั้นเป็นฝ่ายที่ “ครอบครอง” เกือบทั้งหมด  ฝ่ายตรงกันข้ามที่เรียกว่า  “เสรีนิยม” นั้น  มีพลังน้อยมาก  ในส่วนของกองทัพบกอาจจะมีคนที่เชื่อในเสรีนิยมแค่หยิบมือเดียว  กองทัพเรือนั้น  รัฐธรรมนูญ กฎหมาย กฎเกณฑ์ถูกเขียนและบังคับใช้โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมแทบจะสิ้นเชิง  ในส่วนของกองทัพอากาศนั้น  สื่อแทบทุกชนิด  ยกเว้นหนังสือพิมพ์ก็อยู่ในมือของ  “รัฐ” ที่ปกครองแบบอนุรักษ์นิยมทั้งหมด  ดังนั้น  ฝ่ายเสรีนิยม-ประชาธิปไตย จึงแทบจะ “ไม่มีที่ยืน” ในสังคม

แต่การเกิดขึ้นของโลกดิจิทัลและสื่อสังคมรุ่นใหม่ในช่วงไม่นานคือประมาณไม่เกิน 10 ปี มานี้  ทำให้ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดมีต้นทุนในการส่งและการรับน้อยมากหรือฟรี ซึ่งทำให้กองทัพอากาศถูกใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญในเครื่องมือนี้มาก  และพวกเขาจำนวนน้อยนิดก็เหมือนกับ “นักบิน” ที่ขับ “เครื่องบินเจ็ตรุ่นใหม่ที่สุด” จำนวนเป็นแสน ๆ ลำ  บรรทุกระเบิดเข้าโจมตีฝ่ายตรงข้ามทุกวัน

จนถึงวันนี้  สามารถ “ครอบครองท้องฟ้า” ของประเทศไทยได้  ความหมายก็คือ  สามารถ “เปลี่ยนความคิด” ให้คนจำนวนมากโดยเฉพาะประชาชนทั่วไป เข้ามาเป็นพวก  คนที่เคยเป็นอนุรักษ์นิยมก็เปลี่ยนมาเป็นเสรีนิยมมากขึ้น  ไม่ต้องพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่สมาทานความคิดนี้ตั้งแต่เริ่มมีจิตสำนึกทางสังคมและการเมือง

ดังนั้น  กองทัพบกที่เคยถูกครอบครองโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงมีพลังน้อยลงในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมมีพลังมากขึ้น  โดยเฉพาะในส่วนของประชาชนที่ถูกเปลี่ยนโดยการถล่มของกองทัพอากาศของฝ่ายเสรีนิยม  อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคนกลุ่มอื่นโดยเฉพาะส.ว. และหน่วยงานที่คุมกฎของการปกครองประเทศก็ยังอยู่ในมือฝ่ายอนุรักษ์นิยมอยู่รวมถึงฝ่ายที่ถืออาวุธแทบทั้งหมดที่ยังไม่ถูกทำให้เปลี่ยนข้างได้  ดังนั้น  ถึงวันนี้ผมยังคิดว่ากองทัพบกของทั้งสองฝ่ายยัง “สูสี” แม้ว่าอาจจะมี “แลนด์สไลด์” ของฝ่ายเสรีนิยมในการเลือกตั้ง

ดูเหมือนว่ากองทัพเรือของฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังแข็งแกร่งมากแม้ว่าจะถูกถล่มด้วยกองทัพอากาศของฝ่ายเสรีนิยมอย่างหนักจนต้องถอยในบางเรื่องเช่น การยอม“ให้ ประกันตัว” นักรบฝ่ายเสรีนิยมในกรณีความผิดบางอย่าง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม  การใช้กองทัพเรือในการต่อสู้นั้น  เป็นเรื่องที่ไม่สามารถใช้เรือยึดทำเนียบได้  เรือนั้น ส่วนใหญ่ก็มักทำได้เฉพาะในการตัดกำลังของข้าศึก เช่น การตัดสิทธิหรือยุบพรรคอะไรแบบนี้

แต่ก็ต้องระวังว่าเมื่อนำเรือออกมาสู้  ก็มักจะเป็นเป้าให้เครื่องบินของฝ่ายตรงข้ามเข้ามาถล่ม  ซึ่งก็เป็นต้นทุนที่สูงมาก  ตัวอย่างก็น่าจะเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองฝ่ายเสรีนิยมรุ่นใหม่ถูกยุบพรรค  ซึ่งก่อให้เกิดการประท้วงและการประกาศสงครามทางอากาศ  และในที่สุดท้องฟ้าก็ถูกครอบครองมาจนถึงวันนี้

ทั้งหมดนั้นก็ทำให้ผมคิดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยม-อำนาจนิยม กับฝ่ายเสรีนิยม-ประชาธิปไตย ที่แหลมคมที่สุดที่ประเทศไทยเคยประสบมา  การชนะหรือแพ้ในรอบนี้น่าจะเป็นเครื่องชี้ว่าประเทศไทยจะไปทางไหนต่อจากนี้ และอาจจะไม่หวนกลับมาเป็นแบบเดิมที่ลุ่ม ๆ  ดอน ๆ  อีกเลย