พึงเคารพกติกาเลือกตั้งชี้ชะตาประเทศ

24 มี.ค. 2566 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2566 | 06:25 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3872

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่ประชาชนจะได้ใช้สิทธิหย่อนบัตรลงคะแนน เลือกคนที่รัก พรรคที่ใช่ เข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติ และจัดตั้งรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารประเทศ เป็นการชี้ชะตาอนาคตประเทศผ่านการเลือกตั้งตัวแทนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีปัญหามากมายรออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ผูกโยงมาจากเศรษฐกิจโลกที่มิอาจปฏิเสธได้ 

นับระยะเวลา 53 วันจากนี้ไปเข้าสู่โหมดรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แต่ละพรรคการเมืองต้องนำเสนอนโยบายและตัวบุคคลให้โดนใจประชาชน ให้ประชาชนได้เลือกอย่างน้อย ให้สามารถแก้ปัญหาให้กับตัวเองได้ในระดับหนึ่ง และแก้ปัญหาประเทศในภาพรวมในทางการบริหารราชการแผ่นดิน เลือกเพื่อผ่าทางตัน หรือ หาทางออกให้กับประเทศที่เสมือนตกอยู่ในหลุมดำมานานปี 

ในการรณรงค์หาเสียงนั้น เราต้องการเห็นทุกฝ่าย ทำหน้าที่ของตัวเองและมีสำนึกรับผิดชอบในฐานะผู้อาสา ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมที่ดีของนักการเมืองที่ต้องมากกว่าผู้อื่น โดยไม่เอารัดเอาเปรียบ แข่งขันกันแบบแฟร์เกม ภายใต้กติกาข้อกำหนดระเบียบของกกต. ไม่ทำในสิ่งที่วิญญูชนไม่พึงปฏิบัติ เต็มไปด้วยสปิริตอย่างเข้มข้น 

ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมนัดแรกหลังยุบสภา เห็นชอบกฎเหล็กในการปฏิบัติระหว่างรอรัฐบาลใหม่ โดยครม.ยังคงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็น ไม่อนุมัติงานหรือโครงการ หรือ มีผลสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ไม่อนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน

ครม.ต้องไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต.กำหนด รัฐมนตรีที่ลงสมัครเลือกตั้งส.ส. ต้องไม่ใช้เวลาราชการหาเสียงหากประสงค์จะใช้เวลาราชการหาคะแนนเสียง ต้องลากิจกับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต้องปลดป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ติดกับหน่วยงานรัฐลงทั้งหมด เว้นโฆษณาที่กระทำในนามพรรคการเมืองและใช้จ่ายเงินในการดำเนินการเอง 

การเลือกตั้งใหญ่เพื่อคัดเลือกผู้แทนเข้าไปเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ทุกครั้งมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตประเทศ ทุกฝ่ายจำต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ควบคุมกฎกติกาอย่าง กกต.ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ สุจริต เป็นธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามมติมหาชนมากที่สุด ให้การเลือกตั้งชี้ชะตาอนาคตพวกเขาอย่างแท้จริง