ทำไมปัญหา SVB จะไม่ลามเหมือนวิกฤตซับไพรม์ปี 51 สรุป 3 เหตุผล

29 มี.ค. 2566 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2566 | 07:40 น.

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ชี้ ปัญหาสภาพคล่องธนาคารที่เริ่มต้นขึ้นจากธนาคาร Silicon Valley จะไม่ลุกลามเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลกเหมือนวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ สรุป 3 เหตุผล

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ประเมินว่าปัญหาสภาพคล่องของภาคธนาคารที่เริ่มต้นขึ้นจากธนาคาร Silicon Valley (SVB) ในสหรัฐฯ จะไม่ลุกลามเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ และไม่กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลกเหมือนเหตุการณ์วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในปี 2551 จาก 3 ปัจจัยสนับสนุน คือ 

  • 1. ปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ ในรอบนี้เกิดจากปัญหาสภาพคล่องไม่ใช่ปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ 
  • 2. ธนาคารกลางมีประสบการณ์และมีเครื่องมือพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง และ 
  • 3. สภาพคล่องในระบบธนาคารยังมีเพียงพอ นอกจากนี้ สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงหลังจากที่ภาครัฐทยอยออกมาตรการมาเพิ่มแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการลงทุนนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ยังแนะนำให้นักลงทุนใช้ความระมัดระวัง เนื่องจาก ราคาหุ้นสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง โดยได้ฟื้นตัวกลับมาอยู่เท่ากับในช่วงต้นเดือนมีนาคมก่อนมีข่าว SVB และราคาหุ้นในปัจจุบันไม่ได้สะท้อนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และปัญหาเงินเฟ้อซึ่งยังไม่จบและอาจทำให้ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปสูงกว่าที่ตลาดคาด จึงคงคำแนะนำที่ให้ทยอยเพิ่มน้ำหนักหุ้นเมื่อ ดัชนี S&P500 ต่ำกว่า 3,700 จุด 

นายคมศรกล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียด 3 ปัจจัยสนับสนุนให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า ปัญหาสภาพคล่องในครั้งนี้จะไม่เป็นวิกฤตเหมือนปี 2551 มีดังนี้ 
 

1. ปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ ในรอบนี้เกิดจากปัญหาสภาพคล่องไม่ใช่ปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์เหมือนในช่วงวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ซึ่งฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกและทำให้ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันด้อยค่าลงจนเป็นเหตุให้ธนาคารล้ม แต่ในปัจจุบันเกณฑ์การกำกับดูแลภาคธนาคารที่เข้มงวดขึ้นทำให้ภาคธนาคารมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและมีคุณภาพสินทรัพย์ดีกว่าในช่วงวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์เป็นอย่างมาก 

2. ธนาคารกลางมีประสบการณ์และมีเครื่องมือพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง โดยปัญหาในรอบนี้เกิดจากการแห่ถอนเงินของผู้ฝากเงิน ซึ่งบีบบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเร่งขายสินทรัพย์คุณภาพดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาลออกมาในราคาต่ำ และทำให้ธนาคารต้องรับรู้ผลขาดทุน โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการออกมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธนาคาร ซึ่งเรียกว่า Bank Term Funding Program โดยธนาคารพาณิชย์สามารถนำพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้คุณภาพสูงมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อกู้เงินจาก Fed ได้เป็นระยะเวลาหนึ่งปี ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องรับผลขาดทุนจากการขายตราสารดังกล่าวในตลาด 

นอกจากนี้ สถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐฯ ยังได้ประกาศคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนสำหรับธนาคารที่ล้มไปแล้ว ซึ่งหากมาตรการที่ออกมายังไม่เพียงพอ ทางการสหรัฐฯ สามารถประกาศมาตรการเพิ่มเติม เช่น การขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากหรือคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน เพื่อกู้วิกฤติศรัทธาของผู้ฝากเงินและชะลอการไหลออกของเงินฝากหลังจากนี้ โดยจากรายงานงบดุลรายสัปดาห์ของธนาคารพาณิชย์พบว่าการไหลออกของเงินฝากเริ่มชะลอตัวลงในสัปดาห์ล่าสุด ในขณะที่การปล่อยกู้ยังเติบโตต่อเนื่องและยังไม่เห็นถึงผลกระทบเชิงลบจากการไหลออกของเงินฝาก 

3. สภาพคล่องในระบบธนาคารยังมีเพียงพอ โดยปัจจุบันปริมาณเงินสดสำรอง (Bank Reserves) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในสหรัฐฯ อยู่ที่ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อรวมกับสภาพคล่องที่อยู่ในกองทุนตลาดเงิน (Money Market Funds) อีก 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สภาพคล่องโดยรวมยังมีมากถึง 5 ล้านล้าน ซึ่งยังสูงกว่าระดับสภาพคล่องขั้นต่ำที่ภาคธนาคารต้องการที่ 10% ของ GDP หรือราว 2.5 ล้านล้านถึงสองเท่า