วิกฤตภาคธนาคาร ไทยได้เรียนรู้อะไร

24 มี.ค. 2566 | 17:49 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2566 | 17:53 น.
603

เอ็มดี"เมอร์ริน ลินซ์"ถอดบทเรียนสถานการณ์ธนาคารสหรัฐ-ยุโรปล้ม ไทยได้อะไร กระทุ้งผู้ฝาก ต้องคิดต่อจะบริหารจัดการเงินในบัญชีอย่างไร จากรัฐที่ค้ำประกันเงินฝากลดลง ย้ำแบงก์ไทยแกร่งเงินกองทุน CAR เฉลี่ยสูงถึง 19%

 

นางสาวอรกัญญา พิบูลธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินซ์ สาขาประเทศไทย และประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย  American Chamber of Commerce in Thailand ( AMCHAM )  กล่าวในงานสัมมนา SET in THE RABBIT HOLE: หุ้นไทยปีกระต่าย จัดโดยหนังสือพิมพ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ธนาคารในสหรัฐ-ยุโรป และบทเรียนที่ไทยได้รับจากวิกฤตภาคธนาคารในครั้งนี้ว่า

ปัญหาภาคธนาคารในสหรัฐที่เกิดขึ้น มาจาก 

  • เรื่องของระบบจัดการที่มีปัญหา กรณีของ ซิลิคอน วัลเลย์แบงก์ (Silicon Valley Bank : SVB ) หรือ ซิกเนเจอร์ แบงก์ ( Signature Bank ) แต่ตัวสินทรัพย์ Loan คุณภาพสินเชื่อยังดี  
  • 2.ปัญหาความไม่สมดุล (Mismatch fund ) ระหว่างเงินระดมทุนซึ่งเป็นเงินฝาก กับการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าซึ่งเป็นรายใหญ่ ดังนั้นเมื่อมีการถอนออกเรื่อย ๆ ระบบจึงรัน  เพราะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ขึ้นอยู่กับ"ความเชื่อถือ"เป็นสำคัญ  

"วิกฤตครั้งนี้ ภาครัฐ ธนาคารกลางสหรัฐ ( FED) และ สถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐ ( FDIC ) สามารถเข้ามาจัดการได้ทันท่วงทีใช้เวลาเพียง 2 วัน และด้วย loan ที่ค่อนข้างดี จึงมีสถาบันการเงินประมูลซื้อ  จนทำให้ปัญหาคลี่คลาย จะมีก็เพียงแบงก์เล็กประปรายที่ราคาหุ้นปรับลง แต่เชื่อว่าเฟดจะรับมือได้ "  

 

ส่วนกรณีเครดิตสวิส ( Credit Suisses : CS ) นางสาวอรกัญญา  กล่าวว่าถือเป็นความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีหลัง  สาเหตุ

  • 1.การเข้าไปปล่อยกู้ให้กับ "บริษัท Greensill Capita" ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ supply chain financing วงเงิน 2 พันล้านดอลลาร์ ภายหลังการตรวจสอบ พบว่าเป็นการปล่อยกู้ที่ไม่มี invoice (บิลข้อมูลการซื้อขายที่ออกเป็นเอกสาร )  
  • 2.การปล่อยกู้ เทรดมาร์จิ้นวงเงิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีหลักประกันเป็นหุ้น แต่จากการที่เครดิตสวิส ออกตัวช้า ความเสียหายจาก 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงพุ่งเป็น  5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 
  • 3.ผลจากการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ( P/N) ระยะสั้น 3 เดือน ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 6.5% ต่อปี แต่ไปลงทุนในพันธบัตร 10 ปี  เมื่อขายออกจึงขาดทุนมหาศาล

"ทั้งหมดจึงกลายเป็นมรสุมรุมเร้า "เครดิตสวิส"รอบด้าน ทั้ง ๆที่ในช่วงวิกฤต"ต้มยำกุุ้ง ปี 40 " เครดิตสวิส เป็นสถาบันการเงินผู้นำด้านธุรกรรม เทรดดอลลาร์/บาท และนับเป็นความโชคดีที่สวิตเซอร์แลนด์ มีแบงก์ใหญ่อย่าง"ยูบีเอส" 1 ใน 2 แบงก์ใหญ่ เข้าไปช่วย โดยมองว่าหุ้นยูบีเอสน่าจะปรับขึ้นได้อย่างน้อย 20-30% จากราคาที่ซื้อได้ถูกมากๆ คือ  3.2 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับอีลอน มัสก์ ที่ซื้อทวิตเตอร์ ราคากว่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์  " 

 

ถอดบทเรียนจากวิกฤตภาคธนาคาร

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินซ์ สาขาประเทศไทย กล่าวถึง บทเรียนจากวิกฤตครั้งนี้  คือเรื่องของ AT1(หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ซึ่งแบงก์สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่1 ) เนื่องจากการเข้าซื้อของยูบีเอสในครั้งนี้ มีรัฐบาลเป็นนายหน้า และเพื่อช่วยพยุงวิกฤติความเชื่อมั่นของตลาดการเงินโลก กรณีนี้หน่วยงานกำกับดูแลของสวิตฯ จึงอนุญาตให้สามารถจัดจำหน่ายตราสารหนี้ AT1 ของ Credit Suisse มูลค่ากว่า 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือศูนย์ในทันที ทั้งนี้เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของงบดุลให้กับธนาคารที่เกิดจากการควบรวม  ดังนั้นผู้ถือ AT1ของเครดิตสวิต จะมีมูลค่าเป็นศูนย์ ขณะที่ตามหลักการ ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ AT1 จะต้องสิทธิ์เหนือกว่าผู้ถือหุ้น 

สำหรับผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ไทย  นางสาวอรกัญญา ย้ำว่าไม่ส่งผล เนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 3 แบงก์ ( SVB , ซิกเนเจอร์แบงก์, เครดิตสวิส)  ขณะที่การฟันด์ดิ่ง ระดมทุนระยะสั้นแต่ไปลงทุนระยะยาว ธนาคารพาณิชย์ไทย ก็ไม่เป็นในลักษณะ"เครดิตสวิส" และหากแบงก์ต่างประเทศที่ประสบปัญหาจะขายบอนด์ไทย ออก เพื่อมาชำระหนี้คือลูกค้าก็ไม่คุ้ม เนื่องจากดอกเบี้ยไทยต่ำมาก ๆ ดอกเบี้ยฝากประจำ 3 เดือน อยู่ระดับต่ำเพียง 1.75%  

สถานะแบงก์ไทยแกร่ง 

นอกจากนี้หากเทียบ ความแกร่งแข่งของกองทุนฯ ( Capital Adequacy Ratio : CAR ratio ) สถาบันการเงินต่างประเทศอยู่ที่ 8% ธนาคารสหรัฐอยู่ที่ 14% ยังต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 19.5%โดยเฉลีย แบงก์ไทยจึงปลอดภัยมาก ๆ   

"วิกฤตสถาบันภาคธนาคารต่างประเทศ ถามว่าไทยได้เรียนรู้จากอะไร ที่สำคัญมาก ๆ คือเรื่องของการค้ำประกันเงินฝาก ตัวอย่างจากธนาคารในสหรัฐ ค้ำประกันเงินฝากต่อบัญชีต่อรายต่อธนาคาร อยู่ที่ 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8 ล้านบาท เทียบกรณีของไทย รัฐบาลค้ำประกันเงินฝาก อยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อราย ต่อสถาบันการเงิน  วิกฤตภาคธนาคารในครั้งนี้  จึงเป็นบทเรียนให้ต้องคิดต่อว่า เราจะบริหารจัดการเงินในบัญชีอย่างไร "

ก่อนจะแย้มทิ้งท้ายว่า หากส่วนตัวสถานการณ์เช่นนี้ จะเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน ( Money Market Fund) แม้จะได้อัตราผลตอบแทนที่น้อย แต่การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ก็ปลอดภัยกว่า ดีกว่าไปฝากธนาคาร