นักวิเคราะห์จับตาผลกระทบหลังสหรัฐอุ้มแบงก์ล้มรอบใหม่

14 มี.ค. 2566 | 06:42 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2566 | 07:03 น.

ขณะที่หลายฝายมองว่า ทางการสหรัฐสามารถเข้าจัดการปัญหาของธนาคาร SVB ได้อย่างทันท่วงที แต่ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ก็ได้ตั้งคำถามถึงภาวะ "ภัยทางศีลธรรม" เช่นกัน


การเข้าช่วยเหลือ วิกฤตธนาคาร ของหน่วยงานสหรัฐด้วยการเข้า ประกันและคุ้มครองเงินฝาก ของลูกค้า ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley Bank หรือ SVB) อาจดูเหมือนการลดผลกระทบรุนแรงด้านการเงินไม่ให้ลุกลามเข้าสู่วิกฤตได้อย่างทันท่วงทีของทางการสหรัฐ แต่ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินต่างเตือนว่าท่าทีดังกล่าวอาจเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่ดีของบรรดาธนาคารและนักลงทุนได้

หลังการหารือถึงความเป็นไปของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (SVB) หน่วยงานกำกับดูแลภาคการธนาคารของสหรัฐได้ไฟเขียวแผนงบช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับธนาคาร โดยกระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ FDIC (ย่อมาจาก Federal Deposit Insurance Corporation)เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (12 มี.ค.)ว่า ลูกค้าของธนาคาร SVB จะได้รับการคุ้มครองและจะสามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้ พร้อมประกาศขั้นตอนกระบวนการที่จะช่วยปกป้องลูกค้าทุกคนและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ลูกค้าแห่กันถอนเงินกันยกใหญ่ด้วย

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว นายบิล อัคแมน ผู้จัดการกองทุนประกันความเสี่ยงหรือ Hedge Fund ชาวอเมริกัน ได้ทวีตข้อความระบุว่า หากทางการอเมริกันไม่เข้าแทรกแซง “เราอาจเผชิญกับภาวะแห่ถอนเงินเหมือนช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 เป็นสิ่งแรกที่ตื่นขึ้นมาในเช้าวันจันทร์ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงและสร้างความยากลำบากกับผู้คนนับล้านชีวิตได้เลยทีเดียว” อัคแมนเสริมว่า “ธนาคารอีกหลายแห่งมีสิทธิ์จะล้มแม้รัฐจะเข้าแทรกแซง แต่ตอนนี้เรามีแผนการที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร”

 

ธนาคาร SVB

มาตรการคุ้มครองและเข้าถึงเงินฝากของหน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารของสหรัฐ ได้สร้างความเชื่อมั่นว่าผู้ฝากเงินจะไม่สูญเสียเงินฝาก แต่ทางการอเมริกันตั้งคำถามถึงภาวะภัยทางศีลธรรม หรือ moral hazard ซึ่งเป็นการปลดล็อคแรงจูงใจของผู้คนในการป้องกันความเสี่ยงด้านการเงินออกไป

นายนิโคลัส เวรอน นักวิชาการอาวุโสจาก Peterson Institute for International Economics ในกรุงวอชิงตัน เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า นี่คือการช่วยเหลือและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อระบบการเงินของสหรัฐ และ “ต้นทุนที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อทุกคนที่ใช้ระบบสถาบันการเงิน”

อีกด้านหนึ่ง หน่วยงานกำกับดูแลกิจการประกาศว่า ธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank) หรือ SB ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก ได้ล้มครืนลงแล้ว และกระบวนการยึดทรัพย์สินก็ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ ย่อมส่งผลเสียต่อผู้เสียภาษี ขณะที่เฟดยังเข้ามาเอื้อให้บรรดาธนาคารหรือสถาบันการเงินที่กำลังประสบปัญหา สามารถกู้ยืมฉุกเฉินได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ในเรื่องนี้ นายไมเคิล เอฟวรี และนายเบน พิกตัน นักวางแผนกลยุทธ์ของธนาคาร Rabobank ให้ความเห็นว่า “... หากตอนนี้เฟดกำลังหนุนหลังทุกฝ่ายที่เผชิญกับความเดือดร้อนด้านสินทรัพย์หรืออัตราดอกเบี้ย นั่นแสดงว่าพวกเขากำลังผ่อนคลายเงื่อนไขทางการเงินครั้งใหญ่ เช่นเดียวกับการเพิ่มภาวะภัยทางศีลธรรมมากขึ้นไปอีก”

การประกันเงินฝาก
เนื่องจากว่าเงินฝากเพียง 250,000 ดอลลาร์แรกของผู้ฝากเงินในธนาคารสหรัฐจะได้รับการคุ้มครองโดยบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ FDIC การล้มละลายของธนาคาร SVB จึงจุดประเด็นที่น่ากังวลสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจรายย่อยว่าจะไม่สามารถนำเงินออกมาจ่ายพนักงานได้ และราว 89% ของเงินฝากราว 200,000 ล้านดอลลาร์ในธนาคาร SVB ในช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมา ก็เป็นเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง

แต่ตอนนี้ทางการสหรัฐได้ปลดความเสี่ยงดังกล่าวออกไปแล้ว

นักวิเคราะห์บางส่วนระบุว่า การกระทำของสหรัฐไม่ได้เรียกว่าเป็นการอุ้มสถาบันการเงินแต่อย่างใด เพราะว่าผู้ถือหุ้นและลูกหนี้ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองของธนาคาร SVB จะไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้ความช่วยเหลือดังกล่าว

นายสตีฟ ซอสนิค หัวหน้านักวางแผนกลยุทธ์ของ Interactive Brokers ในรัฐคอนเนคทิคัต กล่าวถึงมาตรการของหน่วยงานสหรัฐที่มีออกมาว่า “นี่จะเป็นการลดผลกระทบได้ก่อนในระยะสั้น และเราค่อยมากังวลถึงภัยทางศีลธรรมและมาตรการควบคุมของรัฐที่หย่อนยานกันทีหลัง” เขากล่าวว่า มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ตัดความกังวลว่าธนาคารอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบอีกหรือไม่

ท่าทีของทางการสหรัฐได้ยังผลักดันสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของหุ้นสหรัฐและเอเชียในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ แต่นักลงทุนต่างกังวลกันต่อถึงเรื่องความไม่แน่นอนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมที่จะมีขึ้นในปลายเดือนมีนาคมนี้

อีกด้านหนึ่ง บรรดาขุนคลังและคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ออกมาให้ความเห็นถึงความเสี่ยงที่ผลกระทบของสองแบงก์ใหญ่ล้มในอเมริกาว่าอาจส่งผลจำกัดต่อระบบการเงินยุโรป ในช่วงที่หุ้นธนาคารในยุโรปร่วงหนักจากข่าวนี้ ซึ่งถือว่าหนักสุดนับตั้งแต่สงครามรัสเซียกับยูเครนปะทุขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นการประชุมรัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม นายเปาโล เจนติโลนี  คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ระบุว่า ยังไม่เห็นความเสี่ยงลุกลามมายังธนาคารยุโรปหลังธนาคาร SVB ล้ม โดยเขากล่าวว่า “มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นผลพวงทางอ้อม แต่ในตอนนี้ยังไม่เห็นความเสี่ยงจำเพาะเจาะจงอย่างชัดเจน”

ที่มา รอยเตอร์ / วีโอเอ