ไบเดนวอนประชาชนเชื่อมั่นระบบธนาคาร หลังรัฐออกโรงปกป้องเงินฝาก

14 มี.ค. 2566 | 00:30 น.

ปธน.ไบเดนย้ำชาวอเมริกัน ขอให้เชื่อมั่นระบบธนาคาร หลังรัฐออกมาตรการปกป้องเงินฝาก-ลดทอนความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปิดกิจการ 2 ธนาคารใหญ่

 

หลังจากที่ทางการ สหรัฐ ได้ออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก การปิดกิจการ ของ ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) หรือ SB นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ออกมากล่าวย้ำเมื่อวันจันทร์ (13 มี.ค.)ว่า ชาวอเมริกันสามารถมีความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารของสหรัฐ และเขาขอขอบคุณสำหรับการดำเนินการที่รวดเร็วของเจ้าหน้าที่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาในการที่จะแก้ไขปัญหาและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

"ชาวอเมริกันสามารถมีความเชื่อมั่นว่าระบบธนาคารของเรามีความปลอดภัย และเงินฝากของคุณมีความปลอดภัย โดยลูกค้าทุกคนที่มีเงินฝากในทั้งสองธนาคาร (SVB และ SB)สามารถมั่นใจว่าเงินฝากจะได้รับการปกป้อง และพวกเขาจะสามารถเข้าถึงเงินฝากได้ภายในวันนี้" ปธน.ไบเดนกล่าว

ปธน.โจ ไบเดน วอนประชาชนเชื่อมั่นระบบธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศจัดตั้ง โครงการ "Bank Term Funding Program" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินจากผลกระทบของการล้มละลายของธนาคาร SVB

ขณะที่กระทรวงการคลังสหรัฐก็ยืนยันว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้กับ SVB และ SB จะสามารถเข้าถึงเงินฝากได้เต็มจำนวนตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. แม้ว่ากฎระเบียบของบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ให้การคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 250,000 ดอลลาร์ต่อผู้ฝาก 1 ราย ต่อ 1 ธนาคาร

มั่นใจไม่ลุกลามบานปลายเหมือนปี 2008

ด้านนางเซซิเลีย เราส์ ประธานสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาว ได้ออกมาแถลงยืนยันในวันเดียวกันว่า ระบบธนาคารของสหรัฐในขณะนี้มีรากฐานที่แข็งแกร่งและสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน โดยเธอได้เปรียบเทียบว่า ความแข็งแกร่งของระบบธนาคารสหรัฐในวันนี้มีมากกว่าครั้งที่เกิดวิฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 15 ปีที่แล้วมาก

ซึ่งในครั้งนั้นเมื่อปีค.ศ. 2008 สหรัฐเจอกับวิกฤตทางการเงินครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่เรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่เริ่มจากการเกิดภาวะฟองสบู่แตกในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตามมาด้วยการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพรม์และสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวตั้งแต่ปี 2005-2006 ก่อนที่ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ จะพากันประสบภาวะหนี้เน่าและขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง

การออกมาแถลงแสดงความมั่นใจของทำเนียบขาวเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของระบบธนาคารสหรัฐนั้น เกิดขึ้นหลังจากประธานสภาที่ปรึกษาบรรษัทค้ำประกันเงินฝาก(FDIC)ของรัฐบาลกลางสหรัฐออกมายืนยันว่า ผู้ถือบัญชีเงินฝากทุกรายของธนาคารที่ล้ม จะได้รับการคุ้มครองเงินฝากจำนวน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.65 ล้านบาทต่อบัญชีเงินฝากและจะสามารถเข้าถึงเงินฝากของตัวเองได้ภายในวันจันทร์ที่ 13 มีนาคมนี้

มาตรการที่ประกาศออกมาทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธนาคารในสหรัฐในเวลานี้ น่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น และไม่น่าจะลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตใหญ่เหมือนกับเมื่อครั้งเกิดวิกฤตทางการเงินทั่วโลกในปี 2008

ศาสตราจารย์ เจอราร์ด โคมิซิโอ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยกฎหมายวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า แม้ธนาคารที่ล้มจะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ แต่ทางการสหรัฐก็มีกฏระเบียบและมาตรการทางการเงินที่มีความเข้มแข็งและเข้มงวดมากพอที่จะจำกัดขอบเขตของความเสียหายได้ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อปี 2008 ที่เกิดวิกฤตโดยที่หน่วยงานต่างๆยังไม่มีความพร้อมในการรับมือกับปัญหา

  • อนึ่ง ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) เป็นธนาคารใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐ และเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยก่อนหน้าการถูกคำสั่งปิด SVBได้ประกาศแผนขายหุ้นในวงเงิน 2,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 77,926 ล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องหลังจากธนาคารประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักจากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมากจากการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อแก้วิกฤตเงินเฟ้อในรอบปีที่ผ่านมา
  • ส่วน ซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) เป็นธนาคารขนาดกลางที่มีนโยบายการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับลูกค้ารายย่อยในรัฐนิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย และเนวาดา ทั้งยังเป็นหนึ่งในธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยเงินกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี 

 

ข้อมูลอ้างอิง

‘That’s how capitalism works,’ Biden says of SVB, Signature Bank investors who lost money in failed banks