ไทยเบฟ ซื้อหุ้น OISHI คืน 9 ผู้ถือหุ้นใหญ่รับเงินอู้ฟู่ 3.8 พันล้าน

13 มี.ค. 2566 | 01:55 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2566 | 06:16 น.
2.3 k

สแกน 9 ผู้ถือหุ้นใหญ่รับเงินขายหุ้น โออิชิ กรุ๊ป "OISHI" ให้กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ กว่า 3.8 พันล้าน 3 แบงก์ต่างประเทศรับกว่า 2 พันล้าน "ทวีฉัตร จุฬางกูร" ได้ 720 ล้าน อยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล 152 ล้าน ขณะที่รายย่อยที่เหลือรับรวมกัน 633 ล้าน

กรณีบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขอซื้อหุ้น บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  หรือ OISHI จากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆถืออยู่ทั้งหมดจำนวน 76,279,602 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.34 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท เพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาเสนอซื้อหุ้นที่ราคา 59.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็นวงเงินรวม 4,500.496 ล้านบาท

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุ ภาพรวมข้อมูลผู้ถือหุ้น OISHI ณ วันที่ 13 ธ.ค. 2565 มีจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด 2,457 ราย จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) 1,846 ราย คิดเป็น 20.34%

ผู้ถือหุ้น  OISHI 10 รายแรก

  1. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 298,720,398 หุ้น สัดส่วน 79.66%
  2. DEUTSCHE BANK AG SINGAPORE - PWM จำนวน 18,000,000 หุ้น สัดส่วน 4.80%
  3. DBS BANK LTD. AC DBS NOMINEES-PB CLIENTS จำนวน 17,910,200 หุ้น สัดส่วน 4.78%
  4. นาย ทวีฉัตร จุฬางกูร  จำนวน 12,203,800 หุ้น  สัดส่วน 3.25%
  5. BANK OF SINGAPORE LIMITED-THB SEG AC จำนวน 9,357,400 หุ้น สัดส่วน 2.50%
  6. นาย อยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล จำนวน 2,580,000 หุ้น สัดส่วน 0.69%
  7. กองทุนเปิด บัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ จำนวน 1,800,000 หุ้น สัดส่วน 0.48%
  8. กองทุนเปิด บัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ จำนวน 1,550,000 หุ้น สัดส่วน 0.41%
  9. น.ส. จินตนา กาญจนกำเนิด จำนวน 1,080,800 หุ้น สัดส่วน 0.29%
  10. นาง หทัยรัตน์ จุฬางกูร จำนวน 1,061,400 หุ้น สัดส่วน 0.28%

เมื่อดูจากผู้ถือหุ้น OISHI 10 รายแรก พบว่า มีสัดส่วนการถือหุ้นสูงถึง 364,263,998 หุ้น จากจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ ทั้งสิ้น 375,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 97.14%

หากไม่รวมบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ที่ถือหุ้นอันดับ 1 ในสัดส่วน 79.66% จะพบว่าผู้ถือหุ้น OISHI อันดับที่ 2-10 จะถือหุ้นรวมกัน 65,543,600 หุ้น หรือ 17.48%  ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆถือหุ้นรวมกันแค่ 10,736,002 หุ้น หรือ 2.86% เท่านั้น

การซื้อหุ้น OISHI ของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จะทำให้ผู้ถือหุ้นอันดับ 2-10 ได้รับเงินจากการขายหุ้นคืนรวมกันกว่า 3,867.072 ล้านบาท ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆจะได้รับเงินจากการซื้อหุ้นคืน จำนวน 633.424 ล้านบาท

9 อันดับผู้ถือหุ้น OISHI ที่จะได้รับเงินจากการขายหุ้นให้กับไทยเบฟเวอเรจ มากที่สุด

  1. DEUTSCHE BANK AG SINGAPORE - PWM ได้รับเงิน 1,062 ล้านบาท
  2. DBS BANK LTD. AC DBS NOMINEES-PB CLIENTS ได้เงิน 1,056.7 ล้านบาท
  3. นายทวีฉัตร จุฬางกูร ได้เงิน 720 ล้านบาท
  4. BANK OF SINGAPORE LIMITED-THB SEG AC  ได้เงิน 552 ล้านบาท
  5. นายอยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล ได้เงิน  152.22 ล้านบาท
  6. กองทุนเปิด บัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ได้เงิน 106.2 ล้านบาท
  7. กองทุนเปิด บัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ ได้เงิน  91.45 ล้านบาท
  8. น.ส. จินตนา กาญจนกำเนิด ได้เงิน 63.76 ล้านบาท
  9. นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ได้เงิน  62.62 ล้านบาท

9 หุ้นใหญ่ รับเงินไทยเบฟ ซื้อหุ้น OISHI คืน

ไทยเบฟแจ้งเหตุผลและที่มาของการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ ดังนี้

ไทยเบฟเล็งเห็นว่าปัจจุบันปริมาณการซื้อขายหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีไม่มากนัก ไทยเบฟจึงเห็นว่าการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกและโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทสามารถขาย
หุ้นของบริษัทได้

กลุ่มไทยเบฟอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างการดำเนินงานและการประกอบธุรกิจของกลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ภายในกลุ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และ/หรือเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยจะดำเนินการจัดกลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึง การปรับโครงสร้างของกิจการในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งอาจดำเนินการในลักษณะของการซื้อ จำหน่าย หรือโอนทรัพย์สินหรือสิทธิต่าง ๆ การควบรวมกิจการ การโอนสิทธิตามสัญญาทางการเงิน การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือแนวทางในการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารงาน การโอนย้ายพนักงาน การกู้ยืม-ให้กู้ยืมเงิน การระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งการปรับโครงสร้างที่กล่าวมานี้อาจมีการทำรายการหรือธุรกรรมระหว่างบริษัทกับไทยเบฟ และ/หรือบริษัทในกลุ่มไทยเบฟได้

ทั้งนี้ ไทยเบฟจะพิจารณาดำเนินการตามแผนการดังกล่าวตามความเหมาะสมในอนาคต เนื่องจากแผนการดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน จึงอาจมีการเพิ่มเติม และ/หรือ เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น การเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน จะทำให้สามารถเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการกิจการและแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าวมากยิ่งขึ้น และ

เนื่องจากบริษัทจะไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกต่อไป การดำเนินการดังกล่าวจะยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบริษัทจดทะเบียน

คณะกรรมการอนุมัติให้กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2566เวลา 10.00 น. ในสถานที่ประชุมที่จะแจ้งให้ทราบต่อไปและในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส โดยกำหนดให้วันที่ 27 มีนาคม 2566 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2566 (Record Date) โดยราคาซื้อขายครั้งหลังสุด 46.50 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566