ปี 66 คาดเอกชนแห่ออกหุ้นกู้ 1 ล้านล้าน รับเศรษฐกิจฟื้น

11 ม.ค. 2566 | 13:46 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2566 | 21:57 น.

ปี 2566 คาดเอกชนแห่ออกหุ้นกู้ 1 ล้านล้าน หลังเศรษฐกิจฟื้น จากปีก่อนหุ้นกู้ออกใหม่ พุ่งทำสถิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แตะ 1.27 ล้านล้านบาท ชี้ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ไม่น่าห่วง

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงในปี 2565 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ภาคเอกชนมีความต้องการในการออกหุ้นกู้เพิ่มมากขึ้น เพื่อหาต้นทุนทางการเงิน ทำให้การออกหุ้นกู้ระยะยาวในปี 2565 ที่ผ่านมาได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยในปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่น่าสนใจหลังผ่านพ้นจากปัญหา โควิด-19 แม้การขยายตัวในตลาดตราสารหนี้จะไม่เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ถือได้ว่าเป็นที่น่าพอใจ เพราะมีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป และยังเป็นปีที่ดี เนื่องจากยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวปี 2565 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปี 2565 

 

แม้ที่ผ่านมาจะมีการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหุ้นกู้ที่มีปัญหา มีมูลค่า 99,420 ล้านบาท คิดเป็น 2.18% ของมูลค่าคงค้างในตราสารหนี้ภาคเอกชน แต่สัดส่วนยังถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.6% หากไม่รวมการปรับโครงสร้างหนี้ของการบินไทยที่มีมูลค่า 71,608 ล้านบาท

 

ภาพประกอบ หุ้นกู้มีปัญหา

อย่างไรก็ตามทาง สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดว่าในปี 2566 การออกหุ้นกู้ระยะยาวจะมีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท จากความต้องการของภาคเอกชนในการออกหุ้นกู้ หลังเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้

 

กลุ่มธุรกิจที่มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวสูงสุด 5 อันดับ

กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค  
กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  
กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์  
กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์  
กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
 

มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 15.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% หลังตราสารหนี้ภาครัฐ ขยายตัว 14% มูลค่าคงค้าง 7.77 ล้านล้านบาท และหุ้นกู้เอกชน ขยายตัว 9% ทำให้มีมูลค่าคงค้าง 4.57 ล้านล้านบาท 

 

ภาพ มูลค่าคงค้างตราสารหนี้

กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ ในปี 2565 นักลงทุนต่างชาติมียอดการซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ 46,611 ล้านบาท และมียอดการถือครองตราสารหนี้ไทยที่ระดับ 1.07 ล้านล้านบาท สัดส่วนกว่า 6.8% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยอายุคงเหลือเฉลี่ยอยู่ที่ 7.96 ปี
 

ขณะที่อัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลไทย ในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นทุกรุ่นอายุ ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของเฟด เพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ในรอบปีที่ 0.75% มาอยู่ที่ 1.25% ส่งผลให้ พันธบัตรรัฐบาล 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.97% มาอยู่ที่ 1.63% และ พันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.74% มาอยู่ที่ 2.64%

 

อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน อายุ 5 ปีของหุ้นกู้ทุกอันดับเครดิตปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้อายุ 5 ปีของผู้ออกทุกอันดับเครดิตสูงขึ้น ณ สิ้นปี 2565 อันดับเครดิต AAA ขยับขึ้นแตะ 2.72% AA ที่ 3.07% A ที่ 3.25%  BBB+ ที่ 4.31% และ BBB ที่ 5.03%

 

ขณะที่จากการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ในระยะข้างหน้า มีมุมมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2-3 ครั้งในปี 2566 อยู่ในกรอบ 1.75-2.0 %

 

ทั้งนี้ในมุมมองของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ถือว่ามีความรอบคอบรอบด้าน บนรูปแบบความค่อยเป็นค่อยไป และสามารถประคับประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยให้เกิดความต่อเนื่อง