5 สถานการณ์ตลาดการเงินที่ต้องติดตามใกล้ชิด

11 ธ.ค. 2565 | 12:14 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2565 | 19:14 น.
893

ธปท.ชี้ 5 สถานการณ์อย่างต้องติดตามใกล้ชิด อาจทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในตลาดการเงินที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้

การประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ธนาคารแห่งประเทศสไทย (ธปท.) เมื่อในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจดังนี้

 

ระบบการเงินโลกมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งปัจจัยต่างๆที่จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในตลาดการเงินที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้

 

 

ต้องติดตาม 5 สถานการณ์อย่างใกล้ชิด

  1. เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
  2. ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นมาก จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เร็ว แรง และพร้อมเพรียงกันของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อดูแลเงินเฟ้อ
  3. ความเปราะบางทางการเงินที่สูงขึ้นจากหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้นมาก
  4. ราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่มีความผันผวนสูง
  5. ระบบการเงินโลกที่ซับซ้อนขึ้นจากบทบาทที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่มิใช่สถาบันการเงิน (non-bank)

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่ปรับสูงขึ้น สถานการณ์ในตลาดการเงินต่างประเทศอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยได้

ดังนั้นที่ประชุมจึงให้ความสำคัญกับการติดตามดูแลความเสี่ยงที่มีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในประเด็นหลัก ดังนี้

 

  • ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและ SMEs บางกลุ่มอาจด้อยลง หากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยและกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภาคครัวเรือนไทยยังมีความเปราะบางจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ

 

  • ขณะที่ SMEs ยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เช่น ภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงบางธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่สูงขึ้นและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เช่น การขนส่งสินค้า การค้า และวัสดุก่อสร้าง

 

ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีมาตรการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว คลินิกแก้หนี้ และมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ซึ่งช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้ระดับหนึ่ง

 

ที่ประชุมเห็นว่า ยังมีความจำเป็นต้องเร่งผลักดันมาตรการแก้หนี้ในลักษณะเฉพาะจุดให้ครอบคลุมและเข้าถึงลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ต้องติดตามคุณภาพอย่างใกล้ชิดของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและ non-bank

 

  • ความผันผวนของราคาสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดการเงินและต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจที่อาจปรับสูงขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ลดลง จนอาจกระทบผลการดำเนินงานของสถาบันการเงิน กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทประกันภัย รวมทั้งเสถียรภาพระบบการเงินได้

 

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีหลักเกณฑ์ในการดูแลความเสี่ยงของกองทุนรวมและตลาดตราสารหนี้ อาทิ การกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนมีเครื่องมือสำหรับการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ และการกำหนดลักษณะและประเภทของผู้ลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของตราสารหนี้ที่ลงทุนได้ (investor segmentation)

 

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีเกณฑ์คำนวณเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการขาดอายุกรมธรรม์ประกันชีวิตภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่ายังมีความจำเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องร่วมกันติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมในการดูแลให้ตลาดการเงินมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินได้ตามปกติแม้ในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤติ

 

“เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงนี้ ภาคเอกชนควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากการระดมทุนระยะสั้นที่กระจุกตัว ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและสภาพคล่องในการระดมทุนจากต่างประเทศ"

 

ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ. จะร่วมกันติดตามและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในระบบการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยให้ได้ทันการณ์

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ ระดับการก่อหนี้ของภาครัฐบาล ธนาคารพาณิชย์และธุรกิจเอกชน ทั้งจากแหล่งในประเทศและต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

 

ที่ประชุมประเมินว่า ระบบการเงินไทยในปัจจุบันยังมีเสถียรภาพ โดย

  • ธนาคารพาณิชย์ ที่มีเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรองรับความต้องการสินเชื่อในระยะถัดไปได้
  • ธุรกิจประกันภัยมีฐานะการเงินมั่นคง โดยผลกระทบต่อธุรกิจประกันวินาศภัยจากสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลายลง
  • ตลาดการเงินยังสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติแม้ความผันผวนปรับสูงขึ้นตามทิศทางตลาดการเงินโลก