แบงก์ขานรับกนง.พาเหรดขึ้นดอกเบี้ยกู้-ฝาก

07 ธ.ค. 2565 | 17:12 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2565 | 00:12 น.

ธนาคารพาณิชย์เตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งเงินกู้-เงินฝาก ส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มแล้ว 0.75% แถมมีภาระต้นทุนเพิ่มจากเงินนำส่ง FIDF อีก 0.46% เกือบ 6 หมื่นล้านบาท เป็นภาระที่ต้องผ่องถ่ายออกไป พร้อมจับตาค่าเงินบาท แนวโน้มผันผวนสูง

ในที่สุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ครั้งสุดท้ายของปี ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 อีก 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.25% ต่อปี

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ 6 แห่งที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 1 ครั้ง ส่วนใหญ่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้ ซึ่งแหล่งข่าวกล่าวว่า ธนาคารจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากหน้ากระดาน 0.50% ตามกนง. แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ขณะที่ธนาคารที่ยังคงดอกเบี้ย MRR เพราะอัตราเดิมอยู่ในระดับสูงแล้ว ส่วนธนาคารที่ปรับ MRR เพื่อให้ขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงระบบ

แบงก์ขานรับกนง.พาเหรดขึ้นดอกเบี้ยกู้-ฝาก

ล่าสุดธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัดนำร่องปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และฝาก โดยนายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศปรับดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นสูงสุด 0.45% ต่อปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยใหม่อยู่ระหว่าง 0.25-1.40% ต่อปี และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 0.125-0.25% ต่อปี โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2565

ายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)

 

ตามด้วยธนาคารกสิกรไทย โดยนายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ  KBANK กล่าวว่า ธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยเพิ่มดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ MLR และ MOR 0.25% ขณะที่ปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย MRR เพียง 0.13% พร้อมกับปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.10%-0.40% โดยมีผลวันที่ 8 ธันวาคม 2565 

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน) 

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคาร ทหารไทยธนชาต (ttb) หรือ ttb analytics เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายอย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา เพราะมีลูกค้าบางกลุ่มที่ยังเปราะบาง ทำให้ห่วงหน้าพะวงหลังในการขึ้นดอกเบี้ย เพราะต้องดูแลความอยู่รอดของลูกหนี้ควบคู่กับแก้ปัญหาคุณภาพหนี้ไปในตัว แม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ภาวะเงินเฟ้อ อาจเป็นภาระต่อผู้ผ่อนบางกลุ่ม

แบงก์ขานรับกนง.พาเหรดขึ้นดอกเบี้ยกู้-ฝาก

ประเด็นที่ต้องจับตา นอกจากเรื่องดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังมีเรื่องการเตรียมรับมือกับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จะกลับมาอยู่ในอัตราปกติ 0.46% ในปี 2566 จากที่ปรับลดเหลือ 0.23% ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 จึงมีโอกาสที่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ต้นปีหน้า

 

“ถ้ากนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งๆ บวกกับเงินนำส่ง FIDF ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แบงก์ต้องขึ้นดอกเบี้ยแน่ เพราะอัตราเงินนำส่ง 0.23% นั้นอยู่บนฐานเงินฝาก 15 ล้านล้านบาท ถ้าภาระต้นทุนตรงนี้เพิ่มขึ้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ดอกเบี้ยเงินกู้จะต้องปรับขึ้นด้วย”

 

สอดคล้องกับแหล่งข่าวกล่าวว่า ปีหน้ากลุ่มแบงก์จะถูกซ้ำเติมด้วยต้นทุนที่กลับมานำส่งเงินสมทบ FIDF ในอัตรา 0.46% ซึ่งอัตรา 0.23% เป็นภาระดอกเบี้ยเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากเทียบจากฐานเงินกู้ ซึ่งเป็นภาระที่ต้องผ่องถ่ายออกไป แต่ต้องติดตามว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของระบบแบงก์จะสามารถปรับขึ้นครั้งเดียวทั้งจำนวน หรือจะทยอยปรับขึ้น

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายนั้น ปีหน้าแบงก์จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งเงินฝากและเงินกู้ หลังจากชะลอไม่ปรับขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบายช่วงที่ผ่านมา แต่ความท้าทายปีหน้าขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาพเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวและผลกระทบต่อไทยทั้งภาคส่งออกและการท่องเที่ยวจะมากหรือไม่

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย

“ปกติวัฎจักรเศรษฐกิจช่วงขึ้นดอกเบี้ย ส่วนใหญ่ 75% สหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามและแนวโน้มค่าเงินบาทจะผันผวนสูงขึ้น โดยคาดว่าใน 1 เดือน อาจจะเห็นเงินบาทแกว่งตัว 1.50 บาท”นายพูนกล่าว

 

ทั้งนี้เวลาเกิดภาพเศรษฐกิจถดถอย ค่าเงินบาทจะผันผวนสูง 1.50-1.75 บาท ซึ่งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าจะต้องป้องกันความเสี่ยง หากรู้ต้นทุนก็จอง Forward แต่บางทีที่เงินบาทผันผวน 1.50-1.75 บาท แนะนำให้ใช้เครื่องมือหลากหลายมากขึ้นคือ Option สามารถเลือกได้ พูดง่ายๆ เมื่อรู้ว่า ปีหน้ามีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องยอมจ่ายซื้อประกันความเสี่ยง แม้จะมีต้นทุน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,842 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565