กอบศักดิ์ ค้าน เก็บภาษีขายหุ้น ผิดเวลา ซ้ำเติมความผันผวน

30 พ.ย. 2565 | 04:53 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2565 | 08:21 น.

กอบศักดิ์ ภูตระกูล เห็นค้าน เก็บภาษีขายหุ้นในช่วงเวลานี้ ชี้ 5 สาเหตุ ซ้ำเติมความผันผวน ลดความสามารถการแข่งขันตลาดหุ้นไทย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ในฐานะประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) แสดงความเห็นค้าน ต่อกรณีที่ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...  หรือ ภาษีขายหุ้น ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Kobsak Pootrakool

 

โดยได้โพสต์ภาพ จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง ความเห็นเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์" โดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 พร้อมข้อความ แสดงความไม่เห็นด้วย กับมติดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า การเก็บภาษีขายหุ้นในขณะนี้ ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม 

 

เนื่องจาก สภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือน้อยกว่าครึ่งของก่อนหน้า และเป็นช่วงที่ตลาดผันผวนปั่นป่วนอย่างยิ่ง ในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน และสินทรัพย์ใหม่ เช่น เงินคริปโต ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน และจะผันผวนไปอีกระยะ  นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นรออยู่ข้างหน้า ซึ่งเริ่มเห็นถึงเค้าลางในบางประเทศแล้ว

 

จดหมายเปิดผนึก FETCO

โดย จดหมายเปิดผนึก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ส่งถึง รมต.คลังนั้น ได้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอต่อแนวทางการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับตลาดทุน เอาไว้ 5 ข้อ ดังนี้

  1. FETCO ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย รวมถึงด้อยค่าหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคนที่ลงทุนทางตรงในตลาดหลักทรัพย์ และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่างๆ รวมถึงนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องออมเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ
  2. ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับ Market Markers (MM) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Derivative Warrant และ Single Stock Futures ซึ่งอ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อันจะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลก
  3. ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากจัดเก็บภาษี จะนิยมให้การยกเว้นแก่กลุ่ม MM เช่น ฮ่องกง อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และกลุ่มกองทุนรวม/กองทุนบำนาญ/กองทุนสวัสดิการ เช่น อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ไอซ์แลนด์ เพื่อลดผลกระทบต่อการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้าง และต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ ทั้งนี้ ในกรณีของไทย นักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มทำธุรกรรมขายรวมกัน 12-17% ของมูลค่าขายทั้งหมดในตลาด (สถาบันในประเทศ 7% และ MM 5-10%) ดังนั้น การให้ยกเว้นภาษีต่อไปถือว่าคุ้มค่า หากเปรียบเทียบเม็ดเงินภาษีดังกล่าวกับผลประโยชน์ในวงกว้างต่อประชาชนและการพัฒนาศักยภาพของตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะยาว
  1. อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2534 เมื่ออัตรา commission อยู่ที่ระดับ 0.5% อย่างไรก็ดี จากสภาวะการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น อัตรา commission จึงลดลงเหลือเพียง 0.08% ในปัจจุบัน ดังนั้น มูลค่าภาษีที่จัดเก็บตามอัตราภาษีที่ 0.1% และเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% เป็น 0.11% จะสูงถึง 0.7 เท่าของมูลค่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จัดเก็บในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูงจากสถานการณ์โควิดและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ มีความผันผวนมาก การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำความผันผวนดังกล่าว
  2. ต้นทุนการระดมทุน (cost of capital) ที่สูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลง จะทำให้บริษัทจดทะเบียนชะลอหรือลดการลงทุนขยายธุรกิจ มีกำไรลดลง ท้ายที่สุด productivity และ GDP ของประเทศ รวมตลอดถึงภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจ่ายได้ จะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผลเสียจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้วในปัจจุบัน