ตลท. กุมขมับ เร่งหารือโบรกรับมือเก็บ "ภาษีขายหุ้น"

29 พ.ย. 2565 | 16:23 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2565 | 23:51 น.
1.7 k

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กุมขมับ เร่งหารือโบรกรับมือเก็บ “ภาษีขายหุ้น” หลังครม.ไฟเขียว เก็บในอัตรา 0.10% จากธุรกรรมการขายหุ้น แต่ในปีแรกจะมีการเก็บภาษีก่อนในอัตรา 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น

กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการเก็บ "ภาษีขายหุ้น" ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอในอัตรา 0.10% จากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) แต่ในปีแรกจะมีการเก็บภาษีก่อนในอัตรา 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น 

 

ล่าสุด ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เตรียมการสำหรับกระบวนการจัดเก็บภาษีหุ้น เพื่อให้มีภาระต้นทุนที่ต่ำ และมีประสิทธิภาพในการทำงานของทั้งอุตสาหกรรม 

 

นอกจากนี้ จะมีการเตรียมข้อเสนอในรายละเอียดการจัดเก็บภาษีให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากผู้ลงทุนในบางประเภทธุรกรรมหากมีการจัดเก็บ ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้ง ข้อมูลความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

 

ภาพประกอบข่าว ครม.เคาะเก็บ "ภาษีขายหุ้น"

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 ดร.ภากร เคยออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเก็บภาษีขายหุ้นพร้อมยื่นเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาอัตราจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นให้สะท้อนค่าใช้จ่ายรวมจากการซื้อขายหุ้น ความสามารถในการจ่ายภาษีของนักลงทุน และสภาวการณ์ลงทุนในประเทศ ให้สอดคล้องและเทียบเคียงกับตลาดหุ้นคู่แข่งในภูมิภาคด้วย เพื่อชะลอผู้ลงทุนไทยหันไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ ลดปัญหาเงินทุนไหลออก หรือรวมทั้ง ลดความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทย

 

โดยสิ่งที่ควรจะนำมาวิเคราะห์คืออัตรา 0.1% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการลงทุน รวมถึง commission fee ต่างๆที่เก็บกับนักลงทุน มีความใกล้เคียง เหมาะสมกับต่างประเทศเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร บางประเภท ที่ได้รับถูกผลกระทบ โดยเฉพาะ High frequency trading ทั้งที่เป็นนักลงทุนในประเทศ และในต่างประเทศที่ซื้อขายเร็ว โดยหวังที่จะกำไรระยะสั้นๆ คงมีผลกระทบ เพราะต้องรอให้สินทรัพย์ หรือตราสารเคลื่อนไหวมากกว่าเดิม ถึงซื้อขายได้ ดังนั้นก็อาจกระทบต่อวอลุ่มการซื้อขายส่วนนี้ 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ออกบทวิเคราะห์เรื่องภาษีการขายหุ้น โดยระบุปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณากับเกี่ยวภาษีขายหุ้น ซึ่ง ตลท. เคยให้ความเห็นว่ายังมี 4 ปัจจัยที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมตามที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เคยนำเสนอมาโดยตลอด ดังนี้

 

1.อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% (ภาษีขายหุ้น) ที่จะเรียกเก็บไม่เหมาะสมกับสภาพธุรกิจปัจจุบัน เนื่องจากเป็นอัตราที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2534 เมื่ออัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 0.5% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราภาษี 0.1% แล้วเป็นอัตราส่วน 5:1 เท่า ในขณะที่ปัจจุบันการแข่งขันของผู้ประกอบกิจการรุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้อัตราค่าคอมมิชชั่นโดยเฉลี่ยในอุตสาหกรรมลดลง เหลือเพียง 0.08% เท่านั้น

 

ดังนั้น หากภาครัฐยังจัดเก็บภาษีขายหุ้นที่ระดับ 0.1% รวมกับภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% คิดเป็น 0.11% จะทำให้อัตราส่วนระหว่างค่าคอมมิชชั่นและภาษีจะเป็น 0.7:1 เท่า ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายได้ในการให้บริการซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ โดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าภาษีธุรกิจเฉพาะเสียอีก ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ลงทุนที่สูงขึ้นเกินเท่าตัว และจะกระทบต่อสภาพคล่อง การตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งกลุ่มรายย่อยที่ลงทุนโดยตรงในตลาดหลักทรัพย์ ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนต่าง ๆ และผู้ลงทุนต่างประเทศ

 

2.ต้นทุนการระดมทุน (Cost Of Capital) ของภาคธุรกิจจะยิ่งสูงขึ้น เมื่อสภาพคล่องในตลาดหดตัวจากต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สูงขึ้น 1 เท่าตัว ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่สามารถกลับมาขับเคลื่อนได้เต็มที่เหมือนช่วงก่อนโควิด จะกระทบให้บริษัทจดทะเบียนต้องชะลอหรือลดการลงทุนทางธุรกิจ และกระทบต่อการจ้างงาน และ GDP ของประเทศในท้ายที่สุด

 

3.เกิดต้นทุนภาษีซ้ำซ้อน (Double Taxation) สำหรับธุรกรรมการพัฒนาสินค้าตลาดทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Exchange Trade Fund (ETF), Derivative Warrant (DW) และ Single Stock Futures (SSF) ซึ่งอ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จึงต้องจ่ายภาษีขายทั้งตัวสินค้าที่ผู้ให้บริการไม่ว่าจะเป็น บล. หรือ บลจ. ดูแล และเมื่อต้องขายหลักทรัพย์อ้างอิงในการสร้างสินค้า และดูแลสภาพคล่องของสินค้านั้น ๆ การเก็บภาษีจะจำกัดการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน โอกาสของผู้ให้บริการ และขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลกได้

 

ทั้งนี้ หากมีการจัดเก็บภาษี ควรยกเว้นให้แก่กลุ่มผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) และกลุ่มกองทุนรวม/กองทุนบำนาญ/กองทุนสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้าง และการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ

 

4.การประกาศใช้ภาษีขายหุ้น ควรแจ้งล่วงหน้า ในช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมความพร้อมและปรับตัว ทั้งจากต้นทุนที่สูงขึ้น จากภาวะตลาดทุนและดัชนีหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนในปีนี้สูงมาก ซึ่งมีผลมาจากทั้งสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อสูง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ปัญหาโควิดที่ยืดเยื้อ และภาวะสงครามระหว่างประเทศที่กดดันอุปทานของสินค้าสำคัญต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็น Perfect Storm หรือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ก็ว่าได้

 

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มยังมีการเสนอให้จัดเก็บภาษีจากผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์แทนการเก็บภาษีจากการขายหลักทรัพย์ และเก็บเฉพาะนักลงทุนที่ลงทุนถือครองหลักทรัพย์ต่ำกว่าช่วงระยะเวลาที่กำหนด เช่น 1 ปี เมื่อขายหุ้นแล้วได้กำไร จึงจะถูกจัดเก็บภาษีจากส่วนต่างกำไรดังกล่าว โดยมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในบางประเทศ เช่น ประเทศในโซนยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น

 

ขณะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ อินเดีย ไม่มีการเก็บภาษีจากผลกำไรส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ และในบางประเทศไม่มีการเก็บภาษีเงินปันผลอีกด้วย เพราะต้องการส่งเสริมการลงทุนในประเทศนั่นเอง