เปิดเทอมใหญ่ On-site ผู้ปกครองปวดหัว ค่าครองชีพพุ่ง – ภาระเพิ่ม

14 พ.ค. 2565 | 16:57 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2565 | 00:03 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย เปิดเทอมใหญ่แบบ On-site ทำผู้ปกครองกังวลปัญหาสภาพคล่อง หลังราคาสินค้าและพลังงานพุ่งสูง พบผู้ปกครองบางส่วนต้องก่อหนี้เพิ่ม พร้อมคาดมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 65 ราว 26,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากการเปิดเทอมใหญ่แบบ On-site  สะท้อนว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่กังวลเรื่องราคาสินค้าและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกว่า 70.8% กังวลและมีปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษา จากปัญหาการจ้างงาน ยอดขายของธุรกิจ ภาระผ่อนชำระเงินกู้และค่าครองชีพที่เพิ่มสูง

ส่งผลให้ผู้ปกครองบางส่วนจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่าย โดยผลสำรวจ พบว่า 30.2% จะหยิบยืมจากญาติมิตรหรือเพื่อนฝูง 29% จะใช้สินเชื่อบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสดทั้งหมด 15.1% จะใช้สินเชื่อบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสดบางส่วน 11.7% ขอผ่อนชำระหรือผ่อนผันกับทางโรงเรียน ขณะที่อีก 10.6% จะพึ่งพาโรงรับจำนำ และ 3.4% จะต้องกู้ยืมนอกระบบ

สำหรับประเด็นเรื่องโควิดซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ปกครองกังวลรองลงมา ผู้ปกครองกว่า  56.8% ยังคงกังวลและไม่มั่นใจกับการกลับไปเรียนที่โรงเรียนเต็มรูปแบบ ส่วนอีก  43.2% มีความมั่นใจที่บุตรหลานจะได้กลับเข้าไปเรียนที่โรงเรียน เนื่องจากบุตรหลานได้รับการฉีดวัคซีนและเชื่อมั่นในมาตรการของสถานศึกษา   

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 65  อาจมีมูลค่าราว 26,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.0% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปี 64 จากการกลับไปเรียนแบบ on-site มาจากค่าใช้จ่ายด้านค่าเทอม/ค่าธรรมเนียม ค่าอุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน  การเดินทาง กิจกรรม ค่าอาหารและอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาที่เพิ่มขึ้น อาจไม่ได้สะท้อนว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีทิศทางที่ดี แต่เป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้าที่ได้รับผลกระทบมากจากการระบาดของโควิด รวมถึงผลด้านราคาและค่าครองชีพ

 

ในขณะที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพื่อการศึกษาของบุตรหลาน โดยอาจพิจารณาตัด/ลด หรือประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันส่วนอื่นๆ ควบคู่กับการหาแหล่งรายได้อื่นเข้ามาเพิ่มทดแทน