ศูนย์วิจัยกสิกร ลดเป้าส่งออกไทยปี65 เหลือ 3.4% ชี้มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่ม

01 เม.ย. 2565 | 21:16 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2565 | 04:24 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการส่งออกไทยปี 65 ลง จาก 4.3% เหลือ 3.4% จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน พร้อมติดตามการระบาดโควิดในจีน หากขยายวงกว้างอาจเป็นอีกปัจจัยที่กระทบส่งออกไทยได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการส่งออกของไทยปี 2565 จาก 4.3% มาอยู่ที่ 3.4% จากความท้าทายของวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน โดยแรงหนุนการส่งออกของไทยล้วนมาจากราคาสินค้าในกลุ่มปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าจำเป็น อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ผลไม้และอาหารทะเล

ขณะที่การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (ไม่รวมอังกฤษ) เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตต่ำสุดในบรรดาตลาดส่งออกหลักของไทย อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครนมีข้อตกลงเร็วกว่าคาดอาจช่วยให้การส่งออกไทยขยายตัวสูงขึ้นที่ 3.7%

 

นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามการแพร่ระบาดของโควิดในจีนที่หากขยายวงกว้างออกไปก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กระทบการส่งออกของไทย

 

ศูนย์วิจัยกสิกร ลดเป้าส่งออกไทยปี65 เหลือ 3.4% ชี้มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่ม

ทั้งนี้ จากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ กับพันธมิตรทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการห้ามส่งออกสินค้าสำคัญ 200 รายการ จนถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งสินค้าบางรายการเป็นสินค้าขั้นกลางน้ำ-ปลายน้ำ ทำให้การผลิตที่พึ่งพาสินค้าจากรัสเซียอาจสะดุดและมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

 

และหากชาติตะวันตกยกระดับการคว่ำบาตรก็มีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะห้ามส่งออกแร่ธาตุสำคัญที่เป็นหัวใจการผลิตในหลายอุตสาหกรรม

 

อาทิ แร่เหล็ก อะลูมิเนียม นิกเกิ้ล โดยเฉพาะแร่พาลาเดียมที่เป็นแร่สำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรัสซียเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก

 

จับตาผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อการส่งออกของไทย

1) ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจรัสเซียและยูเครนในปีนี้ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น โดยคาดว่าปีนี้ไทยจะสูญเสียโอกาสส่งออกสินค้าไปทั้งสองประเทศรวมเป็นมูลค่าราว 600-800 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วน 0.2%-0.3% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

 

2) ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรชะลอตัวลงจากปัญหาเงินเฟ้อจากอุปทานตึงตัว กระทบความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยจากไทยซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของการส่งออกไปยุโรป ขณะที่สินค้าจำเป็นยังมีโอกาสเติบโต

 

3) การซ้ำเติมปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ปัจจัยการผลิตต้นน้ำ-กลางน้ำที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของโลกทำให้ประเทศที่มีห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกับรัสเซียต้องรับต้นทุนที่สูงขึ้น

 

หรือเผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งอาจทำให้การนำเข้าของไทยเร่งตัวสูงขึ้น และมีโอกาสที่ไทยจะขาดดุลการค้ากับต่างประเทศครั้งแรกในรอบ 9 ปี