คลัง จ่อปรับลดกรอบการขยายตัว GDP ปี 65 เหลือ 3% - 4%

18 เม.ย. 2565 | 08:19 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2565 | 15:25 น.

“อาคม” เผยเตรียมปรับลดกรอบการขยายตัว GDP ปี 65 ลงเหลือ 3% - 4% ย้ำยังเป็นการเติบโตแบบแข็งแกร่ง ขณะที่การแก้ปัญหาราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยแพง ยังรอข้อมูลจาก ก.เกษตรฯ และ ก.พาณิชย์ ยันพร้อมใช้มาตรการภาษีช่วย หากไม่ใช่การเอื้อเอกชนรายใหญ่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมปรับลดกรอบผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ปี 65 ลง จากเดิม 3.5% - 4.5% เหลือเติบโต 3% - 4% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 4 หลังได้รับกระทบจากปัจจัยต่างๆ พร้อมย้ำตัวเลขนี้ถือว่าเติบโตกว่าปีที่แล้ว และเป็นการเติบโตแบบแข็งแกร่ง

 

“เป็นการปรับลดช่วงกรอบลง แต่ค่ากลางยังคงเดิมที่ 4% ซึ่งหากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมาก ก็อาจจะลดลงอยู่ที่ 3% แม้ตัวเลขจะลดลง แต่จะเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป จะมั่นคงกว่า ดีกว่าเติบโตแรงแล้วมาผ่อนแรงทีหลัง ซึ่งการเติบโตของจีดีพีในแง่ปริมาณ 3% - 4% มั่นใจว่าเราทำได้” นายอาคม กล่าว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอาคม กล่าวต่อว่า ในแง่ของราคา ขณะนี้รัฐบาลได้เข้าไปดูแลราคาของสินค้าทั้ง 2 ตัวแล้ว ทั้งราคาอาหารสัตว์และปุ๋ย ซึ่งขณะนี้รอให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ส่งข้อมูลสรุป เพื่อพิจารณาออกมาตรการทางภาษีเข้าไปช่วย โดยจะต้องประเมินว่า หากใช้มาตรการทางภาษีแล้วประโยชน์ที่ได้รับจะตกถึงเกษตรกรหรือไม่ หรือตกถึงเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ว่า นอกจากการเบิกจ่ายงบประมาณประจำ และงบลงทุนของรัฐบาลแล้ว การส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ

 

โดยกรมศุลกากร ระบุว่า เดือนมีนาคม 2565 การส่งออกและนำเข้ายังเติบโตอยู่ โดยคาดว่าไตรมาส 1 จะเติบโต 12% - 15% ด้านสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้เติบโต 5% แต่กระทรวงการคลังอยากผลักดันให้การส่งออกเติบโตได้ 10% จึงได้เข้าไปช่วยเหลือข้อติดขัดต่างๆ เช่น การเร่งคืนภาษีให้ผู้ประกอบการ เป็นต้น

 

ขณะที่ค่าเงินบาทที่ยังอ่อนค่าขณะนี้ ซึ่งบางช่วงอาจมีแข็งค่าบ้าง แต่ก็ยังถือว่าอ่อนค่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 63 - 64 แม้จะส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ก็จะกระทบต่อการนำเข้า

 

โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งวันที่มีการนำเข้าน้ำมันค่าเงินอาจอ่อนค่า ทำให้เมื่อราคาตลาดโลกปรับลดลง ราคาน้ำมันในประเทศจึงไม่สามารถปรับลดตามได้ทันที ทั้งนี้ปัจจุบันราคาน้ำมันต่ำกว่า 100 เหรียญฯต่อบางร์เรล หลังสหัฐฯ มีการนำน้ำมันสำรองออกมาใช้เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตามในประเด็นของค่าเงินบาท เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องทำหน้าที่ประสานกัน เพื่อรักษาเสถียรของค่าเงิน ไม่ให้ผันผวนมากเกินไป เพราะจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจในการบริการความเสี่ยงและอัตราแลกเปลี่ยนได้ พร้อมคาดการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะเริ่มคลี่คลายในช่วงครึ่งปีหลัง