คลังสั่ง 5 แบงก์รัฐแก้ NPL ครัวเรือนกระอักแบกหนี้อ่วม

14 เม.ย. 2565 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :14 เม.ย. 2565 | 19:05 น.
1.7 k

“อาคม”เผย สั่ง 5 แบงก์รัฐ เดินหน้าแก้หนี้เสีย ให้กลับเข้าระบบ พร้อมหาแหล่งรายได้เสริม ยอมรับออมสิน-ธ.ก.ส. มีหนี้เสียมากสุด เหตุเลี่ยงยาก เพราะต้องช่วยประชาชน ธ.ก.ส.คาดปี 65 ปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเกษตรมากกว่า 3 ล้านราย

หลังรัฐบาลประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือนใน 8 เรื่องหลักคือแก้ไขหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ  แก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์รถจักรยานยนต์ แก้ไขหนี้ข้าราชการโดยเฉพาะครูและตำรวจ แก้ไขปัญหาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs รวมถึงปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในส่วนของกระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้ 5 ธนาคารรัฐรัฐคือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ ไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลาม (ไอแบงก์) เข้าไปดูแลลูกหนี้ของตนเอง รวมทั้งดึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) แล้ว ให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติให้ได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

ที่ผ่านมา แบงก์รัฐได้ดำเนินมาตการดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤตต่างๆ ซึ่งในส่วนของธนาคารออมสินและธ.ก.ส.มีหนี้เสียมากที่สุด แต่ยอมรับว่า ในฐานะที่เป็นธนาคารรัฐ เมื่อดำเนินมาตรการที่เป็นนโยบายรัฐ ก็จะส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐจะชดเชยหนี้เสียบางส่วนให้ หากอยู่ในโครงการรัฐ

 

“รัฐคงไม่ปล่อยให้ธนาคารรัฐดำเนินมาตรการจนหมดตัว เพราะแบงก์เอง ก็ต้องมีการกันสำรองไว้ตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และต้องมีสภาพคล่องเพียงพอคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ เพียงแต่บทบาทในการเข้ามาช่วยเหลือประชาชนจะมีมากกว่า และยังได้รับการชดเชยจากรัฐบาลด้วย ดังนั้นแบงก์รัฐต้องออกแรงมากกว่านี้” นายอาคม กล่าว

 ทั้งนี้ หากดูแลลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลอย่างจริงจัง จะสามารถดึงให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ เช่น ดึงลูกหนี้เข้ามาสู่มาตรการพักชำระหนี้ และหาโครงการที่ทำให้เกิดรายได้หรือมีผลตอบแทน เพื่อนำเงินที่เกิดขึ้นมาชำระหนี้เก่า ส่วนหนี้ใหม่พักไว้ก่อน โดยมีระยะเวลาปลอดชำระหนี้่ชัดเจน

 

ยกตัวอย่างลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เป็นหนี้เสียประมาณ 10 ล้านราย ก็ให้ดึงลูกนี้กลับมาเข้าโครงการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย และทำให้มีีรายได้เพิ่ม ด้วยการปล่อยกู้เพื่อเป็นทุนในการทำอาชีพเสริม เช่น การปลูกผักหรือพืชเสริม เมื่อขายได้ ก็ให้หักกำไร 50% มาใช้ในการชำระหนี้เดิม ส่วนหนี้ใหม่ที่กู้ไปก็ให้พักไว้ก่อน ยังไม่ต้องเริ่มผ่อนชำระคืน ทั้งนี้ ยอมรับว่า การทำแบบนี้อาจเป็นการทำให้มีหนี้พอกขึ้นมา แต่หากไม่ทำก็จะไม่มีทุนที่จะทำให้เกิดรายได้ขึ้นมาเช่นกัน

คลังสั่ง 5 แบงก์รัฐแก้ NPL ครัวเรือนกระอักแบกหนี้อ่วม

“จะบอกว่าการทำแบบนี้ จะไม่ทำให้หนี้เสียเกิดขึ้นเลยก็คงไม่ใช่ แต่แบงก์รัฐทั้งออมสิน และธ.ก.ส. ก็ต้องรู้จักลูกค้าของตัวเองดี ซึ่งแบงก์รัฐทำได้เลย เพราะถือเป็นการลดเอ็นพีแอลของแบงก์เองด้วย ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะลดเอ็นพีแอลด้วยการเข้มงวดปล่อยกู้ แต่แบงก์รัฐทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องเข้าไปช่วย”

 

รััฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา เราอาจจะคิดแต่เรื่องของการกู้เงิน แต่ไม่ได้คิดเรื่องของแหล่งรายได้ที่ต้องมีมากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะเงินเดือน หรือค่าจ้าง ซึ่งบางคนอาจต้องทำงานเพิ่มมากกว่า 1 งาน หรือแม้แต่เกษตรกร ที่ต้องปลูกพืชเสริม นอกจากพืชหลัก เช่น เกษตรกรที่ปลูกข้าวเป็นพืชหลัก เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ รายได้ที่เข้ามาก็จบ ทำให้รายได้ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นจึงต้องปลูกพืชเสริม

 

นอกจากนั้น จากการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรตามจังหวัดต่างๆ จะพบว่า เกษตรกรมีการรวมกลุ่มจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น และบางแห่งมีการตั้งสถาบันการเงินชุมชน โดยการรวมเอาหนี้เสียนอกระบบของสมาชิกเข้ามาเป็นหนี้ของสถาบันการเงินชุมชน และมีการผ่อนชำระกับสถาบันการเงินชุมชนแทน ซึ่งดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า และยังมีการจ้างงานในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้สามารถชำระหนี้ได้ ก็ถือเป็นการรวมมือกันของชุมชนที่มีความเข้มแข็งมาก

 

นายอาคมกล่าวอีกว่า เรื่องของหนี้ครัวเรือนจริงๆ แล้วมีอยู่หลายภาคส่วน เช่น หนี้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีการลดหย่อนหนี้ให้ ซึ่งล่าสุดได้แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.กยศ. โดยลดการค้ำประกันลง ขณะที่มาตรการระยะสั้นเป็นการชะลอบังคับคดี ซึ่งก็มีการทำอยู่แล้ว ส่วนหนี้ครู ซึ่งมีคณะกรรมการดูแลอยู่

 

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธ.ก.ส.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้ีสินประชาชน เพราะมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นเกษตรกร ซึ่งที่่ผ่านมา มีโครงการตรวจสุขภาพหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้มีปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นประกอบกับธปท.เองก็มีแนวนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้้อย่างยั่งยืน เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

“การแก้หนี้อย่างเดียวก็คงไม่ใช่คำตอบ สิ่งหนึ่งที่ธ.ก.ส. เข้ามาดูคือ จะทำอย่างไรให้เกษตรกร สามารถพัฒนาศักยภาพ ของการมีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่มีอาชีพแค่ปลูกข้าว ปลูกมัน แต่ทำอย่างไรให้ช่วงเวลาที่เหลือมีอาชีพอื่นเข้ามาเสริม ซึ่งเราเองจะมีส่วนงานที่เข้าไปดูแลในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วย”

 

ธ.ก.ส.มีหลายโครงการเข้าไปช่วยเหลือทั้งการพยายามเข้าไปทำความเข้าใจกับสุขภาพหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้้ จากเดิมที่ยืดหนี้ออกไป 3-5 ปี ก็ปรับเป็น 7-10 ปี โครงการชำระดีมีคืน สำหรับเกษตรกรที่ชำระหนี้ดี ก็นำส่วนหนึ่งคืนกลับให้ลูกค้าไปใช้จ่ายครัวเรือน  โครงการนาทีทอง ลดดอกเบี้ยสู่ภัยโควิด เพื่อช่วยเกษตรกรที่มีภาระหนี้ค้างชำระ จากการชำระดอกเบี้ยมา จะนำดอกเบี้ยบางส่วนไปลดต้นเงิน เพื่อให้สามารถลดภาระหนี้ลงได้

 

การปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่มีระยะเวลาอีก 2 ปี ธ.ก.ส.จึงได้เข้าไปพบปะกับเกษตรกร เพื่อดูว่ากลุ่มไหนที่ศักยภาพค่อนข้างมีข้อจำกัด จะลดดอกเบี้ยให้ไม่เกิน 0.25% กลุ่มไหนมีข้อจำกัดในการส่งชำระหนี้จะปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพจริงๆจะขยายเวลาการชำระหนี้ให้ไม่เกิน 20 ปี ขึ้นกับศักยภาพของลูกหนี้

 

ทั้งนี้ในการช่วยเหลือเกษตรกรจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ S1 เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีบัตรสวัสดิการรัฐ และ S2 เป็นกลุ่มที่ไม่มีบัตรสวัสดิการรัฐ แต่ทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ เป็นเกษตรกรประมาณ 4 ล้านราย และ S3 เป็นสถาบันการเกษตร วิสาหกิจชุมชน มีประมาณ 2 แสนราย ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 กลุ่มได้ตรวจสุขภาพหนี้ไปแล้วกว่า 90% และช่วยลูกค้าชำระดีมีคืนมากกว่า 1 ล้านราย คาดว่าปี 65 จะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเกษตรมากกว่า 3 ล้านราย

 

“สินเชื่อเกษตรจะอ่อนไหวกับราคาสินค้าเกษตร ภัยธรรมชาติ ทำให้สัดส่วนหนี้เสียของธ.ก.ส. เพิ่มขึ้นจาก 4% มาอยู่ที่ 5-6% ของสินเชื่อรวม ซึ่งก็ถือว่าสูง แต่แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้น ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน รวมถึงผลไม้ เช่น ทุเรียน น่าจะทำให้ทิศทางรายได้เกษตรกรปรับดีขึ้นได้” นายธนารัตน์ กล่าว

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,774 วันที่ 14 - 16 เมษายน พ.ศ. 2565