ธ.ก.ส. เผยโควิด-ภัยธรรมชาติ ทำหนี้เสียพุ่งกว่า 9.2 หมื่นล้าน

13 เม.ย. 2565 | 07:00 น.
3.1 k

ธ.ก.ส. เผยปีบัญชี 64/65 ณ สิ้นเดือน มี.ค.65 พบหนี้เสียพุ่งกว่า 9.2 หมื่นล้าน หรือ 6.63% ของสินเชื่อรวม เหตุโควิด-ภัยธรรมชาติ กระทบต่อรายได้เกษตรกร พร้อมตั้งเป้ากดหนี้เสียให้ลดลงมาอยู่ที่ 4.5% ภายในปีบัญชี 65/66

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในปีบัญชี 2564/65 ซึ่งสิ้นสุดลงในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารมีหนี้เสียจำนวน 9.2 หมื่นล้านบาท หรือ 6.63% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากปีบัญชี 2563/64 ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 7,200 ล้าน หรือ  3.7% ของสินเชื่อรวม

 

เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิดยังอยู่ในระดับสูง กระทบรายได้ของเกษตรกร และ ปัญหาภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมในช่วงกลางปี ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

ทั้งนี้ยอมรับว่า มีความกังวลต่อตัวเลขหนี้เสียดังกล่าว เนื่องจากเป็นตัวเลขที่สูงมาก แม้ว่าธนาคารจะออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในปีบัญชี 2565/66 นี้ ธ.ก.ส. ได้ตั้งเป้าหมายที่จะบริหารจัดการให้หนี้ ให้เสียปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 4.5% ของสินเชื่อรวม

 

“ในปีบัญชี 2653/64 นั้น เป็นช่วงที่เราพักหนี้ให้เกษตรกรทั้งระบบ จากนั้น มาตรการดังกล่าวได้สิ้นสุดลงในสิ้นเดือน เม.ย. แต่ในช่วงนั้น ก็ประสบปัญหาโควิดระบาด ปัญหาภัยธรรมชาติ และต้นทุนการผลิต ทำให้กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้หนี้เสียเราเพิ่มขึ้น” นายธนารัตน์ กล่าว

 

ธ.ก.ส. เผยโควิด-ภัยธรรมชาติ ทำหนี้เสียพุ่งกว่า 9.2 หมื่นล้าน

 

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก เนื่องจากมีมาตรการของรัฐเข้ามาช่วยดูแลเกษตรกร เช่น โครงการประกันรายได้ วงเงินถึง 4.5 หมื่นล้านบาท โครงการอุดหนุนเกษตรกรไร่ละ 1 พันบาท วงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท รวมแล้วประมาณกว่า 9 หมื่นล้านบาท ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่งเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับที่เพิ่มสูงขึ้น

 

สำหรับการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารในปีบัญชี 2564/65  ธนาคารปล่อยได้เพียง 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2565/66 ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ในระดับเท่ากับปีบัญชี 2564/65

 

ส่วนภาพรวมผลประกอบการของธนาคารนั้น ในปีบัญชี 2564/65 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 2.23 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.75% สินเชื่อคงค้าง 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.26% หนี้สิน 2.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.03%

 

รายได้ลดลง 9.7 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.98% ค่าใช้จ่าย 9 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.79% ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 7.??? พันล้านบาท ลดลงจากปีบัญชีก่อนที่มีกำไร 7.9 พันล้านบาท