เตรียมชงบอร์ด ธ.ก.ส. ออก "สินเชื่อลดต้นทุนปุ๋ย” ช่วยเกษตรกร

11 เม.ย. 2565 | 09:26 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2565 | 16:33 น.

ธ.ก.ส. เตรียมชงบอร์ดภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อขออนุมัติออกมาตรการสินเชื่อ เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนปุ๋ย หลังราคาพุ่งกว่า 87% จากปีก่อน คาดกรอบวงเงินไม่ต่ำกว่า 5.6 หมื่นล้าน ยืนยันเพียงพอช่วยเกษตรกรทุกราย

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากต้นทุนราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่าราคาปุ๋ยเคมีปรับสูงขึ้นเฉลี่ย 87% หรือ จากเดิม 10,000 ต่อตัน ขึ้นเป็น 18,700 บาทต่อตัน ซึ่งจากนโยบายที่รัฐบาลได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรนั้น

 

ธ.ก.ส. จึงเตรียมเสนอขออนุมัติดำเนินมาตรการช่วยเหลือต้นทุนปุ๋ยแก่เกษตรกร ในรูปแบบสินเชื่อผ่อนปรน ภายในเดือนเมษายนนี้ คาดว่ากรอบวงเงินสินเชื่อเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท และจะทันสำหรับรอบการผลิตข้าวนาปีที่จะถึงนี้

“ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.จะมีสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตอยู่แล้ว ซึ่งจะรวมสินเชื่อที่เกี่ยวกับปุ๋ยด้วย โดยมีวงเงินที่ปล่อยกู้ไปคิดเป็น 30% - 35% จากวงเงินสินเชื่อ 5.6 แสนล้านบาท ที่ ธ.ก.ส.ได้ปล่อยสะสมไป แต่เนื่องจากต้นทุนปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นมา 87% จึงต้องเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่ม ซึ่ง ธ.ก.ส. จะเสนอบอร์ดภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้ทันออกสินเชื่อก่อนรอบการผลิตข้าวนาปีที่จะถึง”  นายธนารัตน์ กล่าว

 

ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์  ผจก. ธ.ก.ส.

นายธนารัตน์  กล่าวอีกว่า สำหรับกรอบวงเงินที่ ธ.ก.ส จะใช้ในการดำเนินมาตรการนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการประเมินจากความต้องการใช้ปุ๋ยของเกษตรในปีการผลิตที่ผ่านมา ที่มีการใช้ปุ๋ยอยู่ที่ปริมาณ 1.5 ล้านตัน โดยมีปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท ไม่รวมปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ แต่ยืนยันว่ากรอบวงเงินที่จะใช้ เพียงต่อความต้องการของเกษตรกรอย่างแน่นอน  

 

ขณะที่แนวทางเบื้องต้นที่จะเสนอบอร์ด เช่น การงดเว้นการชำระดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีนี้  หรือ วงเงินการชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับเกษตรกร หรือ การยกภาระการซื้อปุ๋ยของเกษตรกรให้ไปชำระในปีที่ 3-5 แทน เพื่อแบ่งเบาภาระของเกษตรกรในช่วงที่ปุ๋ยยังมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก

 

ขณะที่วงเงินต่อรายที่จะปล่อยให้เกษตรกรนั้น จะขึ้นอยู่กับรอบการผลิต และพืชที่ผลิต เนื่องจากเกษตรกรจะใช้ปุ๋ยแต่ละพืชและรอบการผลิตไม่เท่ากัน โดย ธ.ก.ส. จะใช้ฐานข้อมูลของเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นตัวตั้ง 

 

เช่น เกษตรกรปลูกข้าว 10 ไร่ ใช้ปุ๋ย 10 กระสอบ คิดเป็นค่าปุ๋ยประมาณ 15,000 บาท ธ.ก.ส. ก็จะให้สินเชื่อเป็นวงเงิน 15,000 บาท หรือ เกษตรกรชาวไร่อ้อย ทำไร่อ้อย 100 ไร่ ใช้ปุ๋ย 100 กระสอบ ต้องใช้เงิน 100,000 บาท ธ.ก.ส. ก็จะให้วงเงินสินเชื่อตามการผลิตจริง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้มีการให้สินเชื่อได้ถูกเป้าหมายกับการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง