หุ้นกลุ่มไหนขยับบ้าง เมื่อดอกเบี้ยปรับขึ้น

05 เม.ย. 2565 | 09:55 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2565 | 16:56 น.

“อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง ตลาดหุ้นจะปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น ตลาดหุ้นจะปรับลดลง” เป็นสถานการณ์ที่นักลงทุนต้องเตรียมตัวรับมือทุกครั้งเมื่อได้ยินประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ออกมาส่งสัญญาณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2561 ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณว่าปีนี้มีโอกาสปรับขึ้น 6 – 7 ครั้ง และปีถัดไปอีก 3 ครั้ง ดังนั้น นักลงทุนจึงเพิ่มความระมัดระวังในช่วงเวลาดังกล่าวและเฝ้าติดตามว่าตลาดหุ้นจะปรับลงหรือไม่

 

Bloomberg เผยข้อมูลสถิติในช่วงที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น ปี 2547 และปี 2559 ปรากฏว่าก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 - 6 เดือน ดัชนีหุ้นโลก (MSCI World Index) ปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ หลังจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มปรับขึ้น 1 - 2 ครั้ง ตลาดหุ้นจะค่อย ๆ ปรับขึ้นและเข้าสู่ภาวะปกติ

 

และหากพิจารณาระหว่าง Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด (วันที่ 17 มีนาคม 2565) กับดัชนีหุ้นไทย พบว่าดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงติดต่อกัน 2 วัน (วันศุกร์ที่ 18 และวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565) หลังจากนั้นดัชนีหุ้นไทยก็ปรับขึ้นและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

โดยปัจจัยสำคัญหนึ่งมาจากนักลงทุนทยอยรับรู้ข่าวมานานพอสมควรแล้ว ขณะเดียวกันก็แน่ใจกับนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในอนาคต ปัจจุบันนักลงทุนจึงให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นว่าธุรกิจไหนสามารถเติบโตต่อไปได้ โดยธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงิน เช่น แบงก์ และประกัน

อัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น มีความสำคัญกับธุรกิจแบงก์ 2 เรื่อง
 

1. ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ขยายขึ้น โดยปกติแล้วดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับขึ้นเร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้แบงก์มีรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ทันที ถัดจากนั้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำก็จะปรับขึ้นตาม ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จะปรับขึ้นเล็กน้อย ถึงแม้ว่าแบงก์ไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้มากมาย แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้นจะเป็นข่าวเชิงบวกของแบงก์ทันที

 

2. ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น สะท้อนถึงภาพเศรษฐกิจฟื้นตัว จึงส่งผลดีต่อการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ ขณะเดียวกันโอกาสเกิดหนี้เสียก็ลดลง ทำให้แบงก์ตั้งสำรองหนี้ลดลงตามไปด้วย ผลที่ตามมาคือ ตัวเลขผลกำไรเพิ่มสูงขึ้น

 

โดยสรุป หากพิจารณาผลกระทบการดำเนินธุรกิจแบงก์ จากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รายได้จากการปล่อยสินเชื่อ และระดับหนี้เสีย เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้จากการปล่อยสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้เสียจะปรับลดลง

 

เช่นเดียวกับธุรกิจประกันชีวิต ก็ได้รับประโยชน์เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น เพราะภาระหนี้สินที่เกิดจากการถือกรมธรรม์ระยะยาว ทำให้ต้องนำเงินเบี้ยประกันไปลงทุนต่อ เช่น นำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ดอกเบี้ย 1% แต่เมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น พันธบัตรรัฐบาลให้ดอกเบี้ย 2% ประกันชีวิตที่นำเงินไปลงทุนก็จะได้รับดอกเบี้ย 2% เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนสนใจลงทุนหุ้นกลุ่มประกันต้องเข้าไปศึกษาพอร์ตลงทุนแต่ละบริษัทก่อนว่าเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น คือ บริษัทที่มีกระแสเงินสดสุทธิที่ดี (Net Cash Flow) มีหนี้สินต่ำ ภาระดอกเบี้ยจ่ายต่ำ หรือไม่มีเงินกู้ ซึ่งการมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งจะมีโอกาสในการสร้างผลประกอบการเพิ่มสูงขึ้น

 

ไม่ว่าจะนโยบายการเงิน การคลัง หรือสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ก่อนตัดสินใจลงทุนจะต้องทำการประเมินมูลค่าหุ้นในอนาคต เช่น เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้นจะทำให้หุ้นมีมูลค่าลดลง เพราะกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับมีมูลค่าลดลงจากการถูกคำนวณด้วยอัตราคิดลด (Discount Rate) ที่มีอัตราสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น

 

ดังนั้น นักลงทุนต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจว่ามีความแข็งแกร่งมากน้อยเพียงใด โดยเลือกบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง มีหนี้สินต่ำหรือไม่มีหนี้ รวมถึงมีต้นทุนในการระดมทุนต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อการประเมินมูลค่าหุ้นในอนาคต

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

โดย :  สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ Chief Research Officer บล.ไทยพาณิชย์

 

อ้างอิงที่มา  :  ตลท.