ถอดบทเรียน “ธปท.” กู้วิกฤติการเงินขึ้นดอกเบี้ย-แก้กฏหมาย

04 เม.ย. 2565 | 18:29 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2565 | 01:40 น.

ย้อนบทเรียน "ธนาคารแห่งประเทศไทย" กู้วิกฤติการเงินปี 2549 - 2553 อัดยาแรงขึ้นดอกเบี้ย-แก้กฏหมาย หลังวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองกระทบระบบการเงินทรุด

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2540  - 2553 ประเทศไทยเจอกับวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเงินถึง 2 ครั้งคือ วิกฤติเศรษฐกิจปี 2549 และวิกฤติโลกปี 2008 ซึ่งในขณะที่เกิดวิกฤตปี 40 สถาบันการเงินปัญหาหลายด้านที่ต้องสะสางควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาใหม่  

 

โดยปกติแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย มักจะได้รับผลกระทบจากความท้าทายต่างๆตามสภาพแวดล้อมในแต่ละช่วง ในช่วงปี 2549 - 2553 จะเป็นความท้าทายจากภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ และทางด้านการเมือง

 

ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งช่วง พ.ย. 2549 - ก.ย. 2553 เปิดเผยว่า สำหรับความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาแรกคือค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งในเวลานั้นประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็กพอมีการแข็งค่าก็เกิดผลกระทบที่รุนแรง

 

ซึ่งเป็นปัญหาที่ถูกนำไปพูดคุยกันบนเวทีสากลหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้มีทางออก ธปท.ก็ใช้มาตรการอ่อนๆไปสักระยะหนึ่งจนผลสุดท้ายไม่เวิร์กจนต้องใช้ยาแรงคือออกมาตรการการสำรอง 30% สำหรับเงินเข้าระยะสั้น

 

 

“จากสถานการณ์ตอนนั้นเรามองว่านี่เป็นสิ่งที่น่าจะจำเป็นและทำได้คล่องตัวมากที่สุดจากการศึกษาเหตุการณ์ในประเทศต่างๆที่เคยใช้มาตรการเหล่านี้ก็ถือว่าสามารถที่จะสกัดการเข้าของเงินได้ระดับหนึ่ง แต่เราก็ทราบว่าเหล่านี้เป็นมาตรการระยะสั้น ที่สำคัญก็คือเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวของค่าเงินในลักษณะ 2 ทางคือแข็งค่าและอ่อนค่าซึ่งถือว่าเป็นระยะทางที่ดี และเป็นการซื้อเวลาให้เราทำข้อมูลที่จะติดตามว่าเงินเข้าเงินออกมาจากที่ไหนและมีปัจจัยเบื้องหลังอย่างไรบ้าง 

 

และที่สำคัญในช่วงเวลานั้นเครื่องยนต์อื่นๆของเศรษฐกิจไม่ทำงานและมีความเชื่อมั่นที่ต่ำ มีเพียงเรื่องของส่งออกที่เป็นตัวพระเอก  มาตรการแบงก์ชาติแต่ละอย่างมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งที่เราอาจจะต้องพยายามทำก็คือทำอย่างไรที่จะให้โครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งไม่ใช่บทบาทของแบงค์ชาติทั้งหมดแต่จะทำอย่างไรที่เราจะช่วยกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้เครื่องจักรแต่ละตัวในเศรษฐกิจมันมีความแข็งแรงพอที่ทำงานได้อย่างยั่งยืน”

 

ความท้าทายถัดมาคือเรื่องของเงินเฟ้อตอนปี 2551 ในช่วง 3 ไตรมาสแรกเงินเฟ้อไต่ระดับขึ้นไปสูงมาก ซึ่งธปท.เริ่มเห็นสัญญาณว่าจะต้องเข้าไปดูแลในเรื่องของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งก็เป็นแรงถล่มค่อนข้างแรงเพราะภาครัฐมองว่าเป็นเรื่องของน้ำมัน เรื่องของ ซัพพลายไซด์  การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการซ้ำเติมประชาชน แต่จริงๆแล้วถ้ามองในแง่ของเงินเฟ้อพื้นฐานจริงๆจะเห็นว่า demand ในเศรษฐกิจยังงมีอยู่ ในช่วงนั้น ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย 2ครั้ง ครั้งละ 25 สตางค์  ประชาชนก็ยอมรับ เพราะฉะนั้นบทเรียนที่สำคัญสำหรับเรื่องนี้คือถ้ามีการสื่อสารที่ชัดเจนและทำหน้าที่ตรงไปตรงมามาตราการที่ออกมาจะเป็นที่ยอมรับได้ ได้รับการ 

 

“วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี2008 มีผลพวงน้อยกว่าวิกฤต 2540 ซึ่งตอนนั้นเราเหมือนอยู่ใจกลางของสมรภูมิ แต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกอยู่ข้างนอก ที่สำคัญก็คือธนาคารพาณิชย์ของเราใช้เงินฝากเป็นแหล่งเงินที่สำคัญไม่ได้พึ่งเงินจากตลาด interbank เหมือนในสถาบันต่างประเทศที่หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกสภาพคล่องในตลาดเกิดหายไปหมดเพราะทุกคนกลัวไม่กล้าปล่อยสินเชื่อออกไปให้ใครเลย  ของเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องพึ่งสถาบันการเงินในระบบเนื่องจากว่ามีเงินฝากฐานประจำอยู่แล้ว”

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เป็นอานิสงส์จากการแก้ไขปัญหาและยกระดับของสถาบันการเงินหลังจากวิกฤต 2540 ที่มีการปรับระบบการประเมินระบบพาณิชย์ มีการส่งสัญญาณให้สถาบันการเงินรับทราบสิ่งที่จะต้องระมัดระวัง ซึ่งเป็นการบริหารความเสี่ยง ในขณะนั้นสถาบันการเงินในอเมริกาพังกันเยอะเนื่องจากมีการไปลงทุนในเรื่องของ Toxic access

 

แต่ของประเทศไทย ณ ตอนนั้นมีเพียง 2 ธนาคารที่ไปลงและลงจำนวนน้อยมากเพื่อเรียนรู้ เพราะฉะนั้นผลพวงจากการหนี้เสียจากสินทรัพย์เป็นพิษทั้งหลายก็น้อย ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับธนาคารพาณิชย์ที่มีความระมัดระวังในการที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงของตัวเองเป็นอย่างดี

 

ถัดมาก็คือความท้าทายทางด้านการเมือง ยุคนั้นมีรัฐบาล มีนายก และมีรัฐมนตรีการคลังหลายท่าน เป็นยุคที่ใช้นักการเมืองเปลืองมากดังนั้นผลกระทบต่อ ธปท.มีแน่นอนประเด็นแรกเป็นผลแง่ดี ก็คือการมี สนช.เข้ามา ซึ่งสมาชิกส่วนหนึ่งมาจากภาคธุรกิจ ภาคการเงินจึงเข้าใจเรื่องของการทำธุรกิจและเรื่องของกฎหมาย

 

ธปท.มีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการผ่านร่างกฎหมาย 4 ฉบับคือพ.ร.บ.แบงค์ชาติ ,พ.ร.บ.สถาบันการเงิน ,พ.ร.บ.สถาบันการเงินฝากและพ.ร.บ.เงินตรา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเรื่องของพ.ร.บ.เงินตราไม่ได้นำเข้าพิจราณาเพราะรัฐบาลเห็นว่าอาจจะมีความสุ่มเสี่ยงและมีเรื่องเซนซิทีฟ 

 

“ส่วนในด้านลบ คือในช่วงเวลานั้นฝ่ายการเมืองต้องการนำคนของตัวเองเข้ามาเป็นกรรมการในธนาคารแห่งหนึ่งที่กองทุนฟื้นฟูเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งคนผู้นี้มีประวัติด่างพร้อยและชื่อเสียงแง่ลบ จึงไม่เหมาะสมที่จะให้เข้ามาเป็นกรรมการ เราก็ต้องพยายามดำเนินการที่จะไม่ให้เจตตนานั้นประสบความสำเร็จได้ ซึ่งเราก็สามารถที่จะบล็อกไม่ให้เข้ามาได้

 

ซึ่งแน่นอนว่าก็มีผลกระทบตามมา คือถูกตั้งกรรมการสอบโดยรัฐบาลพยายามที่จะหาเหตุให้ประธานกองทุนฟื้นฟูเข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแร ซึ่งเรื่องก็ลากยาวประมาณ 1-2 ปี จนตอนหลังมีการเปลี่ยนรัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดใหม่ที่ทรงคุณวุฒิและเป็นที่น่าเชื่อถือกรณีนั้นก็เลยตกไปนี่ก็เป็นสิ่งที่เตือนสติว่าเราคงต้องยึดความถูกต้องโดยไม่คิดกังวลว่าผลพวงที่ตามมาจะเป็นอย่างไร”

 

ประเด็นที่ 3 ทางด้านการเมืองก็คือเรื่องการดูระบบให้ดี ปี 2552-2553 เป็นช่วงที่มีการประท้วงเกิดเหตุขัดแย้งกันระหว่างเสื้อหลากสีตามจุดต่างๆ เพราะฉะนั้นในฐานะที่ธปท.เป็นคนกำกับดูแลแบงค์ กำกับดูแลระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ และกำกับดูแลเรื่องภายในธปท.เองเช่นเป็น operator ในการดูแลระบบการชำระเงินแบงก์พาณิชย์ ความปลอดภัยของพนักงานเป็นสิ่งที่จะต้องดูแล รวมถึงลูกค้าที่จะมาใช้บริการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลหรือใช้บริการที่ธนาคารพาณิชย์ 

 

ซึ่งธปท.สามารถที่จะบริหารจัดการเหล่านี้ได้ค่อนข้างดี ระบบสถาบันการเงินไม่การขัดข้องและยังสามารถให้บริการทางด้านการเงินตามปกติ ซึ่งก็หวังว่าจะไม่มีความเสี่ยงทางด้านการเมืองในลักษณะนี้อีกในอนาคต