วางแผนมรดก ตกทอดสู่ลูกหลานอย่างราบรื่น

05 เม.ย. 2565 | 05:05 น.

หลายคนยังมีความเข้าใจว่าการวางแผนมรดกเป็นเรื่องของคนรวย แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่สําคัญสําหรับทุกคน การวางแผนมรดกจะช่วยส่งต่อทรัพย์สินให้กับคนที่เรารักได้ไม่ยาก ซึ่งควรทำไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่

วางแผนมรดก” มักเป็นเรื่องท้าย ๆ ในการวางแผนการเงินที่คนจะนึกถึง ด้วยความคิดที่ว่าต้องมีเงินหลายล้านบาทก่อนแล้วค่อยวางแผน หรือมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวที่ยังมีเวลาอีกนานกว่าจะถึงช่วงบั้นปลายชีวิต แต่จากความไม่แน่นอนไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน การเตรียมวางแผนมรดกจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเตรียมส่งต่อทรัพย์สิน ความรัก ความห่วงใยให้กับคนที่เรารัก

 

มรดก” หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย (ก่อนถึงแก่ความตาย) ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่าง ๆ แต่ไม่รวมถึง ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในขณะหรือในภายหลังที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เช่น เงินที่ได้รับจากกรมธรรม์ประกันชีวิต เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นต้น ดังนั้น หากผู้ตายมีหนี้สิน ผู้รับมรดกก็ต้องรับด้วย โดยหนี้สินที่จะต้องชดใช้นั้นจะไม่เกินมูลค่ามรดกที่ได้รับ

เหตุผลที่ควรวางแผนมรดก แบ่งได้ 2 มุมมอง

 

1. แต่ละครอบครัว ลูกแต่ละคนอาจจะมีความสามารถในการหารายได้และภาระที่แตกต่างกัน เช่น ลูกคนโตประสบความสำเร็จทำธุรกิจร่ำรวย ไม่ต้องห่วง แยกบ้านออกไปเป็นของตัวเอง ลูกคนกลางค้าขาย เลี้ยงดูตัวเองได้ ส่วนลูกคนเล็กเป็นมนุษย์เงินเดือน รายได้ไม่มากและเป็นคนที่อยู่บ้านคอยดูแลพ่อแม่

 

หากเป็นเช่นนี้ อาจต้องการแบ่งทรัพย์สินตามความห่วงใยให้กับลูกทั้งสามคนไม่เท่ากัน ดังนั้น ถ้าไม่ได้วางแผน และพ่อแม่เกิดจากไปก่อน พี่คนโต 2 คนอาจต้องการขายบ้านเพื่อแบ่งทรัพย์สิน ส่งผลให้น้องคนเล็กไม่มีบ้านอยู่และมีโอกาสทะเลาะกันได้

 

ดังนั้น การวางแผนมรดกจึงจำเป็นเพื่อป้องกันความขัดแย้ง และเพื่อให้มีการแบ่งทรัพย์สินตรงตามความประสงค์ของเจ้าของมรดก นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นเจ้าของกิจการ การวางแผนมรดกสืบทอดกิจการให้แก่ทายาท ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยทำให้กิจการเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะทายาทแต่ละคนก็อาจจะมีความสามารถที่ไม่เท่ากัน
 

2. กฎหมายภาษีมรดกและภาษีการรับการให้ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ส่งผลให้การวางแผนมรดกมีความจำเป็นเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการวางแผนภาษีไปในคราวเดียวกัน โดยภาษีการรับมรดกกำหนดให้ผู้รับมรดกจากพ่อแม่เกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นการรับมาครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ตาม ในขณะที่การรับมรดกจากผู้อื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่เกิน 100 ล้านบาท จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตรา 10% ของมูลค่าทรัพย์สิน

 

 

สำหรับทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกนั้น สามารถแบ่งได้ 5 ประเภท

 

  • (1) อสังหาริมทรัพย์
  • (2) หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้น หน่วยลงทุนกองทุนรวม
  • (3) เงินฝากหรือเงินอื่นใดมีลักษณะอย่างเดียวกัน
  • (4) ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน เช่น รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์
  • (5) ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้

 

เมื่อเห็นความจำเป็นที่ต้องวางแผนมรดกแล้ว มาทำความรู้จักว่าใครบ้าง คือ ผู้ที่จะได้รับมรดก โดยในกรณีที่มีคู่สมรสจดทะเบียน สินสมรสจะถูกแบ่งครึ่งหนึ่งให้คู่สมรสก่อน ส่วนที่เหลือจะถูกนำมารวมกับสินส่วนตัวเป็นกองมรดก ซึ่งจะตกแก่ “ทายาท” ที่มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย และทายาทโดยพินัยกรรม ในกรณีที่ไม่ได้วางแผนมรดก กองมรดกจะตกแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายตาม 6 ลำดับ

 

  • (1) ผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน ลื่อ)
  • (2) บิดา มารดา
  • (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
  • (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
  • (5) ปู่ ย่า ตา ยาย
  • (6) ลุง ป้า น้า อา

 

หลายคนคงสงสัยว่า มรดกจะถูกแบ่งให้ทุกลำดับชั้นหรือไม่ คำตอบ คือ กฎหมายมรดกจะยึดหลัก ถ้ามีญาติสนิท ก็จะตัดญาติที่ห่างออกไป ดังนั้น ถ้ามีญาติลำดับชั้นที่หนึ่ง เช่น ลูก ญาติลำดับล่างก็จะไม่ได้รับมรดก อย่างไรก็ดี ทายาทลำดับที่ห้ามตัดออก คือ ชั้นที่สอง โดยหากบิดา มารดา ยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีสิทธิรับมรดกด้วยเช่นกัน 

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับมรดกแทนที่ หมายความว่า หากญาติในลำดับที่จะได้รับมรดกจากไปก่อนเจ้าของมรดก บุตรของญาติในลำดับนั้นจะขึ้นมารับมรดกแทน ที่น่าสนใจ คือ บุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนก็มีสิทธิได้รับมรดกด้วยเสมือนบุตร แต่บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ และหากบุตรบุญธรรมจากไปก่อน พ่อแม่บุญธรรมจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกของบุตรบุญธรรม

 

เมื่อรู้จักทายาททั้งหกลำดับแล้ว อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าคู่สมรสที่จดทะเบียนได้สินสมรสไปกึ่งหนึ่งแล้วจะจบ เพราะคู่สมรสจดทะเบียนยังคงมีสิทธิในกองมรดกด้วย โดยหากมีทายาทรับมรดกในชั้นบนสุด คู่สมรสก็จะหารในสัดส่วนที่เท่ากัน เช่น ถ้ามีมรดก 2 ล้านบาท มีบุตรหนึ่งคน คู่สมรสจะรับมรดกเท่ากับ 1 ล้านบาท เท่ากับที่บุตรได้รับ

 

หากเจ้าของมรดกมีทายาทเพียงลำดับชั้นบิดา มารดา หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน คู่สมรสจะมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่งของกองมรดก และถ้าเหลือทายาทอยู่ในลำดับที่สามเป็นต้นไป (พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย หรือลุง ป้า น้า อา) คู่สมรสจะมีสิทธิได้รับมรดกในสัดส่วนสองในสาม และในกรณีไม่มีญาติเลย คู่สมรสก็จะได้รับมรดกไปทั้งหมด

 

ถ้าแบ่งให้ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายข้างต้นแล้วรู้สึกว่าไม่เหมาะสม อาจเลือกใช้การวางแผนมรดกผ่านการทำพินัยกรรม “ทายาทโดยพินัยกรรม” เกิดจากการเขียนพินัยกรรมกำหนดผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ซึ่งเจ้าของทรัพย์สินสามารถเลือกกำหนดใครก็ได้เป็นผู้รับมรดก อาจจะใช่ญาติหรือไม่ใช่ก็ได้

 

โดยหลักการเขียนพินัยกรรมที่ดี ควรต้องระบุให้ชัดเจนว่าผู้เขียนคือใคร เขียนที่ไหน เมื่อไหร่ มีสติสัมปชัญญะในตอนที่เขียนสมบูรณ์ดี ทรัพย์สินมีอะไรบ้าง จะยกให้กับใคร และจะให้ใครเป็นผู้จัดการมรดก

 

ดังนั้น วางแผนมรดกจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทรัพย์สินของเรานั้น ได้ถูกส่งต่อไปยังคนที่เราอยากให้และห่วงใยจริง ๆ ไม่ใช่ไปตกกับคนที่ไม่ควรได้

 

โดย : อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง, CFP® รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต

 

อ้างอิงข้อมูล  :  ตลท.