ทำอย่างไรหากคนรักจากไปแบบไร้พินัยกรรม

13 พ.ย. 2563 | 07:23 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2563 | 14:26 น.
2.5 k

หลังจากที่เราได้เรียนรู้วิธีการแบ่งมรดกให้ทายาทโดยธรรมกันไปแล้วในบทความก่อนหน้า และทราบแล้วว่าเมื่อมีคนในครอบครัวจากไป ทรัพย์สินของผู้ตายจะกลายเป็นทรัพย์มรดก การโอนย้ายเปลี่ยนชื่อ หรือดำเนินการใดๆ กับทรัพย์มรดก จำเป็นต้องมีคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกระบุชื่อให้เป็นผู้ดำเนินการกับทรัพย์มรดก

 

 

ทำอย่างไรหากคนรักจากไปแบบไร้พินัยกรรม

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

จัดการมรดกแบบไร้พินัยกรรม

 

เพราะฉะนั้นกรณีไม่มีพินัยกรรม จำเป็นต้องมีผู้จัดการมรดกที่ได้รับการยอมรับจากทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนและมีคำสั่งศาลให้เป็นผู้ดำเนินการ ตามหลักกฎหมายแล้ว ผู้มีสิทธิรับมรดก หรือที่เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม” สามารถติดต่อเองที่ศาลได้เพื่อยื่นขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก การยื่นเอกสารจะมีนิติกรของศาลคอยให้คำแนะนำ แต่ในกรณีทรัพย์สินมีความซับซ้อนหรือมีทายาทบางคนไม่ยินยอม แนะนำให้ขอคำแนะนำจากนักกฎหมายหรือทนายความ
 

ผู้เขียนได้ประสบการณ์ตรงนี้ตอนที่คุณแม่จากไป ขณะนั้นคุณแม่มีชื่อในสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี จึงถือว่ามีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดนนทบุรี มีทรัพย์มรดกเป็นเงินฝากธนาคารทั้งหมด 3 บัญชี มีคุณพ่อเป็นคู่สมรสจดทะเบียนตามกฎหมาย และบุตร 7 คน บิดามารดาของคุณแม่เสียชีวิตแล้ว

 

เช่นเดียวกัน การติดต่อธนาคาร จำเป็นต้องมีคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดก พี่น้อง 7 คน ปรึกษาหารือกัน พร้อมใจกันให้ผู้เขียนเป็นผู้จัดการมรดก ผู้เขียนจึงเปิดตำราและหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต มีการเตรียมเอกสารเท่าที่เข้าใจ และได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากนิติกรที่ศาลจังหวัดนนทบุรี สรุปว่ามีเอกสารตอนยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาล ดังนี้

 

1.มรณบัตร ทะเบียนบ้านผู้ตาย

2.มรณบัตรของบิดามารดาของคุณแม่ (เจ้ามรดก)

3.ทะเบียนสมรสคุณพ่อคุณแม่

4.หนังสือแสดงความยินยอมโดยทายาททุกคน โดยสามารถติดต่อขอแบบฟอร์มได้ที่ศาล ระบุชื่อให้ผู้เขียนเป็นผู้จัดการมรดก พร้อมบัญชีเครือญาติ

5.ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนผู้จัดการมรดก ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนของทายาททุกคน

6.หนังสือมอบอำนาจที่ทายาททุกคนมอบอำนาจให้ผู้เขียนดำเนินการตั้งแต่ติดต่อศาลจนถึงวันที่ศาลนัดไต่สวน

7.บัญชีทรัพย์มรดก และสมุดบัญชีธนาคาร

 

ค่าใช้จ่าย มีค่าธรรมเนียมในยื่นคำร้องขอต่อศาล 200 บาท ค่าประกาศลงสื่อ รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่เกิน 2,000 บาท โดยมีลำดับขั้นตอนในการดำเนินการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ดังนี้

 

 

ทำอย่างไรหากคนรักจากไปแบบไร้พินัยกรรม

 

ปัจจุบันมีบริการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทายาท ไต่สวนคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ กรณีที่ทายาทให้ความยินยอมครบถ้วนทุกคน โดยไม่ต้องเดินทางไปศาล ผ่านเว็บไซต์ของศาลแพ่ง http://www.civil.coj.go.th  เลือก “การยื่นคำร้องคดีจัดการมรดกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” โดยศาลจะนัดไต่สวนผ่านวิดีโอคอล และคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะส่งทางไปรษณีย์

 

หากเรามีทรัพย์สิน เงินฝากธนาคาร กองทุนรวม บ้าน รถ ฯลฯ เพื่อความสะดวกสำหรับทายาทในการรวบรวมเอกสารและลดปัญหาทรัพย์สินตกหล่น อย่างน้อยเราควรเก็บเอกสารสำคัญไว้ในที่เดียวกันโดยให้มีคนในครอบครัวรับทราบ

 

 

 

โดย คุณวิภา เจริญกิจสุพัฒน์ นักวางแผนการเงิน CFP®