ผ่าแนวเส้นทาง “สะพานทศมราชัน” เชื่อม “ถนนพระราม 2” เปิดให้บริการ 29 ม.ค.นี้

19 ม.ค. 2568 | 16:38 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2568 | 16:45 น.

เปิดแนวเส้นทาง “สะพานทศมราชัน” ดัน “ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง” เชื่อมถนนพระราม 2 เตรียมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ 29 ม.ค.นี้ คาดรองรับการจราจร 1.5 แสนคันต่อวัน

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคมนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เตรียมจัดงาน “มหกรรมสุขเต็มสิบ” เพื่อเฉลิมฉลองการเปิด “สะพานทศมราชัน” โดยเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่งสร้างประวัติศาสตร์ เพื่อร่วมเป็นหนึ่งของการแสดงพลังความสามัคคีและสร้างความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิตบนสะพานแห่งความภาคภูมิใจของชาติ

ที่ผ่านมา “สะพานทศมราชัน” เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ใช้เวลาการก่อสร้าง 1,170 วัน (ประมาณ 39 เดือน) โดยเริ่มลงเสาเข็มแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 

ผ่าแนวเส้นทาง “สะพานทศมราชัน” เชื่อม “ถนนพระราม 2” เปิดให้บริการ 29 ม.ค.นี้

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ได้ทำพิธีเทคอนกรีตจุดสุดท้ายเชื่อมต่อสะพานอย่างเป็นทางการ ทำให้โครงสร้างของสะพานพระราม 10 นี้ขึงเชื่อมกัน 100% จากนั้นจึงเป็นช่วงเก็บรายละเอียดโครงสร้าง รวมถึงการตกแต่งสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ของสะพานพระราม 10 จนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 
 

 สำหรับ “สะพานทศมราชัน” เป็นสะพานคู่ขนานแห่งแรกของประเทศไทยที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ  และพื้นที่โดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสร้างขึ้นเพื่อใช้งานทดแทนสะพานพระราม 9 ที่ปิดปรับปรุง ภายหลังเปิดทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเตรียมเปิดให้ผู้ใช้ทางวิ่งสัญจรได้เต็มรูปแบบในวันที่ 29 มกราคม 2568

ผ่าแนวเส้นทาง “สะพานทศมราชัน” เชื่อม “ถนนพระราม 2” เปิดให้บริการ 29 ม.ค.นี้

ส่วนแนวเส้นทาง “สะพานทศมราชัน” ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ ดังนี้ 

  • ทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ สามารถใช้ทางขึ้นบริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ถนนสุขสวัสดิ์ เพื่อใช้งานสะพาน โดยสามารถวิ่งเข้าสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานคร มุ่งหน้าบางนา - ดินแดง และทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ - ถนนพระราม 9 บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่
  • ทิศทางขาออกกรุงเทพฯ สามารถใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ผ่านจุดเชื่อมต่อเข้ามาที่สะพานฯ บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ และลงที่ทางลง บริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ไปเพื่อถนนพระรามที่ 2 ได้ 
     

นอกจากนี้สะพานทศมราชันมีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี ในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ ก่อนจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร 

ผ่าแนวเส้นทาง “สะพานทศมราชัน” เชื่อม “ถนนพระราม 2” เปิดให้บริการ 29 ม.ค.นี้

อย่างไรก็ตามแนวเส้นทางนี้จะไปบรรจบกับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ในพื้นที่เขตยานนาวา เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทั้งหมดถือเป็นเส้นทางแห่งการสัญจรที่เชื่อมต่อคนกรุงเทพ ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีเข้าด้วยกัน โดยคาดการณ์ว่าสะพานพระราม 10 แห่งนี้ สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้มากถึง 150,000 คันต่อวัน