ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิด "สะพานทศมราชัน" สายพระราม 3

14 ธ.ค. 2567 | 20:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2567 | 20:14 น.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี ทรงเปิด "สะพานทศมราชัน" สะพานคู่ขนานแม่น้ำเจ้าพระยา สัญลักษณ์แห่งพระมหากรุณาธิคุณ

วันนี้ (14 ธ.ค.) เมื่อเวลา 17.25 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “สะพานทศมราชัน” ณ สะพานทศมราชันทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร

 

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิด \"สะพานทศมราชัน\" สายพระราม 3

 

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงบริเวณสะพานทศมราชัน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้บริหาร และข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ จากนั้น เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบ เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ต่อจากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายบัตร Easy Pass ที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของการก่อสร้าง “สะพานทศมราชัน” โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก

 

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิด \"สะพานทศมราชัน\" สายพระราม 3

 

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ “สะพานทศมราชัน” พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้อง ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้ว เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ต่อจากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายรัชนัย เปรมปราคิน ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณ เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก

 

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิด \"สะพานทศมราชัน\" สายพระราม 3

 

เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาของการก่อสร้าง “สะพานทศมราชัน” รูปแบบและแนวคิดในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมของสะพานทศมราชัน จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (วิศวกรรมและบำรุงรักษา) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

 

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิด \"สะพานทศมราชัน\" สายพระราม 3

 

“สะพานทศมราชัน” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เป็นสะพานคู่ขนานแม่น้ำเจ้าพระยาคู่ (Cable Stayed Bridge) แบบไม่มีเสาอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่องจราจร ความยาวสะพาน 781.2 เมตร ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้มีแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมสะพานแห่งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยองค์ประกอบต่าง ๆ ของสะพานจะสื่อถึงพระองค์ท่าน ดังนี้

 

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิด \"สะพานทศมราชัน\" สายพระราม 3

 

ส่วนยอดของเสาสะพาน หมายถึง ฝ่าพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงถึงความโอบอุ้มปกป้อง ให้ความรัก และความห่วงใยต่อพสกนิกร และพสกนิกรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือเกล้า

สายเคเบิล เป็นสีเหลือง เพื่อสื่อถึงวันพระบรมราชสมภพ คือ วันจันทร์

รูปปั้นพญานาคสีเหลืองทอง อยู่บนโคนเสาสะพานทั้ง 4 ต้น ซึ่งเป็นราศีประจำปีมะโรง ปีพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายอารักขาแด่พระองค์

รั้วสะพานกันกระโดด ออกแบบให้เป็นลายดอกรวงผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์

 

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิด \"สะพานทศมราชัน\" สายพระราม 3

 

โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ก่อสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกจากการเดินทางจากภาคใต้สู่กรุงเทพมหานคร และช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษช่วงบางโคล่ - คาวคะนอง และถนนพระรามที่ ๒ ช่วงดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสะพานนี้ว่า “สะพานทศมราชัน” หมายถึง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์ เนื่องในโอกาสพระราชทานพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ไปประดิษฐานบนสะพานแห่งนี้ด้วย

 

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิด \"สะพานทศมราชัน\" สายพระราม 3

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิด \"สะพานทศมราชัน\" สายพระราม 3

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิด \"สะพานทศมราชัน\" สายพระราม 3