สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 4/2564 ขยายตัว 1.9% ส่งให้ปี 2564 ทั้งปีจีดีพีขยายตัวได้ 1.6% และแนวโน้มปี 2565 ทั้งปีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5 - 4.5 โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปี 2565 นี้
นายดนุชา ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ตามที่ติดตามเป็นรายเดือน ได้เห็นภาพของการฟื้นตัวขึ้นมาของระบบเศรษฐกิจในหลายเรื่องปรับตัวในทิศทางดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการเริ่มจะมีรายได้ มีอัตราเข้าพักสูงขึ้นแม้จะยังไม่ถึง 50% แต่สูงขึ้นประมาณเกือบ 30% จากเดิมต่ำกว่า 10% ประกอบกับมีมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเดินหน้าอยู่
รวมถึงมาตรการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติการออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa) และดึงนักลงทุนในอุตสาหกรมใหม่ช่วยให้เกิดการขยายตัวเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากกว่าและการลงทุนมีการกระจายและมีการหมุนของเงินหลายรอบมากขึ้น ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจจะค่อยๆ PICK-UP ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างช้าๆ และถ้ามีพิจารณาปรับมาตรการดึงนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีขึ้นอีก
ส่วนด้านการลงทุนนั้น ช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงตอนนี้ ภาพการลงทุนอาจหยุดชะงักไปบ้าง แต่เทียบจากไตรมาส 3 ปีก่อน ดูตัวเลขตอนนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้นเหมือนกัน โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ จากนี้ไปน่าจะมีเงินจากภาครัฐออกมาต่อเนื่อง โดยต้องเร่งรัดเบิกจ่ายของภาครัฐ เฉพาะเม็ดเงินลงทุนภาครัฐที่ต้องเร่งเบิกจ่ายจะมี 2 ส่วน คือ เม็ดเงินลงทุนฝั่งงบประมาณ 6-7 แสนล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ที่จะต้องเร่งให้เกิดการลงทุนให้ได้
ขณะเดียวกันจะต้องเร่งการลงทุนของภาคเอกชน ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ อีก ประมาณ 6-7 แสนล้านบาทนั้น ที่จะผลักดันทำให้ลงทุนเกิดขึ้นได้จริงในไตรมาส 2 หรือครึ่งปีหลัง ถึงแม้ว่าจะเห็นการลงทุนจากภาคส่งออก ที่ลงทุนขยายกำลังการผลิตหรือซื้อวัตถุดิบ แต่ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องดึงดูดเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่เข้ามา เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์หรืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี หากรวบรวมกันหลายอุตสาหกรรมอื่นๆ ของภาคเอกชนคิดเป็นเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท
"การดึงลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามานั้น จะช่วยโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยเริ่มปรับตัว และจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศ เมื่อมีบริษัทใหญ่ของโลกมาลงทุนในไทย เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่พยายามดึงเข้ามาในช่วงถัดไป"นายดนุชากล่าว
สำหรับ พรก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ปัจจุบัน คงเหลือ 9.7 หมื่นล้านบาท จำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แต่บางเรื่องโดยเฉพาะการรักษาพยาบาลก็ต้องอนุมัติจ่าย หากอนาคตสถานการณ์ระบาดไม่รุนแรง ไม่มีการปิดเมือง เท่าที่ได้หารือกับสำนักงบประมาณและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มองว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เริ่ม Pick-Up ขึ้นมา เรื่อยๆ การกู้เงินมาเพิ่มอีกก้อนอาจจะไม่จำเป็น ขณะที่จะกู้เงินส่วนที่เหลือ ต้องกันเงินก้อนสำรองไว้ประคองสถานการณ์ด้วย
มาตรการหลักจะพยายามดึงนักท่องเที่ยว ดึงนักลงทุนจากอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น อีวี เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจยั่งยืนมากกว่าและเกิดการหมุนของเงินหลายรอบ รวมถึงกระตุ้นการลงทุนผ่านสาขาก่อสร้าง โดยพยายามจะดึงนักท่องเที่ยวช่วยผ่อนคลายภาวะวิกฤตของภาคท่องเที่ยว ดึงเม็ดเงินลงทุนและพยายามให้เกิดการลงทุนครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญจะทำให้เศรษฐกิจรีคัฟเวอร์ขึ้น
นายดนุชา กล่าวอีกว่า ส่วนปัจจัยเสี่ยง ที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เป็นห่วงอยู่ 4 ปัจจัย ได้แก่
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวย้ำว่า เมื่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจเริ่มสตาร์ท เพียงแต่ยังมีความเสี่ยงจากสงครามทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงกับภาคส่งออก จึงต้องใช้ประโยชน์จากตลาดอาเซียน ตลาดอาเซ็ป และเร่งทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เพื่อขยายตลาด ซึ่งในแง่การส่งออกปีนี้ต้องทำงานหนักกว่าปีก่อน ทั้งในแง่การดูตลาดและการดูสินค้า เพราะจะมีสินค้าหลายตัวอาจจะมีปัญหาหากถูกกีดกันทางการค้าได้
ขณะเดียวกันสงครามทางการค้า ก็สร้างโอกาสในแง่ของ เงินลงทุนโดยตรงหรือ FDI ที่จะดึงเข้ามา อย่างน้อยอาจจะลงทุนต่อในปีถัดไป ซึ่งเรื่อง BOI ก็แข่งกันมากพอสมควรถ้าเทียบหลายประเทศเรื่อง Incentive แต่ระยะถัดไปต้องมีจุดขายไป เช่น การอำนวยความสะดวกการลงทุน หรือมาตรการใหม่ๆ ด้านพลังงานทางเลือก เข้ามาเป็นส่วนเสริมสร้างจุดสนใจให้นักลงทุน
ต่อข้อถามถึงค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นนั้น นายดนุชา ยอมรับว่าค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะดูแล แต่เศรษฐกิจภาพรวมไม่พร้อมจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะอาจจะเกิดภาระกับฝั่งการผลิตที่มีปัญหาอยู่แล้ว จึงต้องต้องหาทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ดูแลค่าครองชีพ
ส่วนน้ำมันจะส่งผลต่อราคาสินค้าต้องพยายามหามาตรการมาดูแล หากราคายังสูงเรื่อยๆ อาจจะดูโครงสร้างราคาน้ำมันมีส่วนไหนช่วยเพิ่มเติม ขณะเดียวกันประชาชนต้องเข้าใจ เพราะราคาถูกกำหนดจากตลาดโลก ซึ่งสศช.ประเมินราคาน้ำมันดิบปีนี้น่าจะเฉลี่ยอยู่ระดับ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาเรล
ส่วนแนวทางส่งเสริม “อีวี” ต้องมีมาตรการอุดหนุนต้นทุน ซึ่งมาตรการส่งเสริมในปีนี้จะใช้งบกลาง 3,000 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้สศช.ไปหารือกับสำนักงบประมาณว่าจะหาเงินจากแหล่งใด เพราะจะกู้ด้วย พ.ร.บ. หนี้สาธารณะก็ไม่ได้