หุ้นกู้เพื่อการศึกษาแสนสิริ ฮอตขายหมด 100 ล้านบาทภายใน 2 นาที

15 ก.พ. 2565 | 18:32 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2565 | 01:39 น.
767

หุ้นกู้เพื่อการศึกษาแสนสิริ ภายใต้โครงการ Zero Dropout อายุ 3 ปี เต็มมูลค่าเสนอขาย 100 ล้านบาท ขายเกลี้ยงภายใน 2 นาทีที่หลังเปิดจองผ่าน SCB Easy App

นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แสนสิริขอบคุณนักลงทุน ที่ร่วมพลิกเปลี่ยนแปลงการศึกษาจองซื้อหุ้นกู้แสนสิริเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางการศึกษาโดยบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ภายใต้โครงการ Zero Dropout อายุ 3 ปี เต็มมูลค่าเสนอขาย 100 ล้านบาททันที ใน 2 นาทีที่เปิดจองซื้อผ่าน SCB Easy App เวลา 8.30 น. ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565

 

หุ้นกู้แสนสิริเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางการศึกษาที่ขายหมดภายใน 2 นาทีครั้งนี้ ตอกย้ำการรวมพลังคนไทย ร่วมสร้างประวัติศาสตร์เพื่อเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย ให้เด็กหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” รวมกับความมุ่งมั่นของแสนสิริ ในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคด้านการศึกษา และจุดประกายให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปด้วยกัน

 

ทั้งนี้ เงินระดมทุน 100 ล้านบาท จะถูกโอนเข้าบัญชี “บมจ.แสนสิริ เพื่อสนับสนุนโครงการร่วมกับ กสศ.” ทันที หลังเต็มมูลค่าเสนอขาย โดยมี ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ดูแลเงินระดมทุนผ่านบัญชีผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow Account) ตอกย้ำความโปร่งใส ตรวจสอบได้

 

 

ทั้งนี้ กสศ. จะจัดทำแผนรายปีและเบิกค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ในโครงการ Zero Dropout ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง ในการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน นำร่องที่จังหวัดราชบุรี ที่มีเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาอยู่ประมาณ 10,000 คน ซึ่งเหมาะสมกับจำนวนเงินระดมทุน 100 ล้านบาท รวมทั้งยังมีปัญหาที่หลากหลายด้านความเหลื่อมล้ำในการศึกษาจากภูมิศาสตร์จังหวัดติดชายแดน ที่มีสภาพทั้งแบบชุมชนและเมือง ขณะที่ยังเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ ที่ทำให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมช่วยเหลือเด็กได้โดยง่าย รวมถึงที่สำคัญคือแสนสิริไม่มีการพัฒนาโครงการและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในพื้นที่ดังกล่าทำให้มีความโปร่งใส

 

 

เศรษฐา ทวีสิน

สำหรับการบริหารจัดการเงินระดมทุน 100 ล้านบาทจากหุ้นกู้แสนสิริ จะถูกแบ่งเป็น 80% ใช้ในการสนับสนุนแก้ปัญหาเด็ก อาทิ ค่าเดินทางมาโรงเรียน ค่าอาหารเช้า อาสาสมัครที่ช่วยดูแล และพัฒนาระบบการศึกษาผ่านครูและโรงเรียน และอีก 20% ใช้ในการสร้างระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืนในด้านการวิจัยวิชาการ และการบริการจัดการ อาทิ การสำรวจข้อมูล การพัฒนาแอปพลิเคชัน และการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพ เป็นต้น นอกจากนี้แสนสิริ จะรายงานผลการดำเนินงานของ กสศ. ในการผลักดันให้เด็กหลุดจากการศึกษาเป็น “ศูนย์” ในทุกไตรมาส รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงาน ลูกบ้าน ลูกค้า พันธมิตรและสังคมตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการออกหุ้นกู้ ที่ต้องการสร้างแรงกระเพื่อมของการรับรู้และการมีส่วนร่วมในสังคมว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ โดยสามารถติดตามการดำเนินการในโครงการ Zero Dropout ได้ที่ https://blog.sansiri.com/zero-dropout-main/

 

เป้าหมายของโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” คือการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน ระยะยาว 3 ปี ครอบคลุมการพัฒนาในทุกด้าน ทั้งการเข้าถึง – คุณภาพการศึกษา และความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายย่อย คือ เด็กต้องอยู่ในระบบการศึกษาในช่วงวัยภาคบังคับ (ป.1-ม.3) ภายใน 3 ปี และเด็กที่ถึงเกณฑ์ต้องพร้อมเข้าเรียน ป.1 ได้ 100% ภายใน 3 ปี โดยแผนงานจะเริ่มตั้งแต่ปี 2565 นำร่องใน 3 อำเภอ ได้แก่ สวนผึ้ง จอมบึง และบ้านคา จากนั้นในปี 2566 จะขยายไปอีก 4 อำเภอ ครอบคลุมทั้งเด็กนอกระบบและเด็กปฐมวัย และในปี 2567 ขยายงานไปยังอีก 3 อำเภอ เพื่อช่วยเหลือทั้งเด็กปฐมวัยและเด็กนอกระบบกว่า 11,200 คนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาในจังหวัดราชบุรีให้เป็น “ศูนย์” รวมทั้งสนับสนุนทุนทรัพย์ให้เด็กได้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าระบบการศึกษา (อัตรา 4,000 บาทต่อคน) จากนั้นจึงส่งต่อสู่กลไกของจังหวัดสานต่อการทำงานในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป

 

 “แสนสิริในฐานะองค์กรที่สร้างพลังบวกในการผลักดันการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กให้ได้รับความเท่าเทียมในการศึกษาขอขอบคุณนักลงทุนที่ร่วมพลิกการเปลี่ยนแปลงการศีกษาในครั้งนี้ โดยสำหรับคนไทยที่ลงทุนในหุ้นกู้แสนสิริเพื่อโครงการ Zero Dropout ไม่ทัน ยังสามารถบริจาคเพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้เพิ่มเติมหลังจากนี้ได้ที่ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ในถึง 3 ช่องทางการบริจาคผ่านเว็บไซต์ กสศ. www.eef.ot.th /ผ่านเว็บไซต์ ปันบุญ www.tmbfoundation.or.th/th/Punboon และ ผ่านการโอนเข้าบัญชี กสศ. – ธนาคารกรุงไทย ได้อีกด้วย” นายเศรษฐา กล่าวสรุป.