รอลุ้น ภาษีคริปโตฯ ชัดเจน ภายใน 31 ม.ค.นี้

25 ม.ค. 2565 | 18:30 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2565 | 00:10 น.

“อาคม” ย้ำ นโยบายคริปโตฯ รัฐบาลมุ่งเน้นส่งเสริม แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบการกำกับที่ดี ส่วนจะผ่อนปรนการเก็บภาษีคริปโตฯ ตามที่เอกชนเสนอหรือไม่ ให้รอข้อสรุปภายใน 31 มกราคมนี้

วันที่ 25 มกราคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับกรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ว่า วันนี้ได้มารับฟังความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและการจัดเก็บภาษีจากรายได้ที่เกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล  ซึ่งมีข้อเสนอหลายๆ ด้าน ที่ยังต้องมาพูดคุยกันต่อ แต่เชื่อว่าจะออกมาในทางที่ดี ขณะเดียวกันกรมสรรพากรก็อยู่ระหว่างการเร่งสรุปและจัดทำรายละเอียดและแนวทางการคำนวณภาษีที่ชัดเจน ได้กำชับให้กรมสรรพากรเร่งสรุปให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้ เพื่อให้ทันในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดให้ยื่นภายในวันที่ 30 มีนาคม 65  

 

“ระยะแรกในการเก็บภาษีคริปโตเคอร์เรนซี จะมีการผ่อนปรนส่วนใดนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งกรมสรรพากรจะทำให้การยื่นแบบภาษีมีแนวทางที่ชัดเจน โดยที่ผ่านมาการเสียภาษีในเรื่องดังกล่าว ก็มีตั้งแต่ปี 2561 เพียงแต่ว่าผู้ประกอบการอยากจะขอยกเว้น และผ่อนปรน กระทรวงการคลังก็จะพิจารณาว่าทำได้หรือไม่ ส่วนรอบชำระภาษีเดือน มี.ค.65 นั้น เป็นรอบชำระภาษีบุคคลธรรมดา ต้องมีความชัดเจนในเรื่องการคำนวณ และมีการผ่อนผันอย่างไร ซึ่งจะทำให้เสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้” นายอาคม กล่าว

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอาคม กล่าวอีกว่า ทางออกในการเก็บภาษีจะต้องพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยจะมีทั้งนโยบายสนับสนุนที่จะเดินควบคู่ไปกันไป และต้องปรึกษาหารือกัน ในส่วนที่เร็ว หรือช้าเกินไป ในเรื่องระบบนิเวศที่จะทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาส่งเสริมเศรษฐกิจได้ โดยจะแบ่งเป็น ประเด็นภาษี ที่จะต้องไปหารือในรายละเอียด และแนวทางการส่งเสริมอีโคซีสเต็ม เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพให้เติบโตขึ้นได้ โดยมาตรการภาษีจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสร้างแรงจูงใจในการปรับตัว ซึ่งเร็วๆ นี้ จะมีการออกมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย

 

“นโยบายสำหรับคริปโตเคอร์เรนซีนั้น มีทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนให้เติบโต แต่จะต้องอยู่ในกรอบของการกำกับดูแลที่ดีเหมือนกับประเทศอื่นๆ ซึ่งก็จะดูตัวอย่างจากประเทศอื่นด้วย ซึ่งประเทศที่เสรีเลยก็มี ประเทศกำกับควบคุมก็มี อย่างไรก็ดี จะต้องมีการกำกับดูแลเหมือนกับตลาดหุ้น โดยในข้อกฎหมายนั้น ก.ล.ต. ก็เป็นผู้กำกับดูแลอยู่” นายอาคม กล่าวว่า

นายอาคม กล่าวด้วยว่า ในส่วนสินทรัพย์ดิจิทัล จะเป็นสกุลเงินเหมือนบางประเทศหรือไม่นั้น จะต้องรอฟังแนวทางจาก ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากขณะนี้การดำเนินการยังไม่ชัดเจน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน ซึ่งขณะนี้หลายประเทศเจอปัญหาเดียวกัน เพราะมีการนำไปใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งต้องระวัง แต่ถ้าหากมีการใช้เพื่อลงทุนก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอะไร