จับตา 5 ปัจจัย ชี้ทิศทางเงินบาทอ่อนค่า

07 ม.ค. 2565 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2565 | 19:00 น.
960

จับตา 5 ปัจจัยชี้ทิศเงินบาทอ่อน หลังเปิดทำการ 2 วันปีแรกปี 65 แข็งค่า 0.3% เทียบจากรอบปี 2564 ที่อ่อนค่าถึง 10.4% ระบุครึ่งปีแรกยังเห็นเงินบาทอ่อนค่าแตะ 33 บาทต่อดอลลาร์ กดดันเงินเฟ้อชั่วคราว ฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”ครึ่งปีหลัง"

หลังเปิดทำการ 2 วันปีแรกปี 65 แข็งค่า 0.3% เทียบจากรอบปี 2564 ที่อ่อนค่าถึง 10.4% ระบุครึ่งปีแรกยังเห็นเงินบาทอ่อนค่าแตะ 33 บาทต่อดอลลาร์ กดดันเงินเฟ้อชั่วคราว ฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง  ศักราชปีเสือ 2 วันแรก เงินบาทยังแข็งค่าข้ามปีแตะดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ภาพรวม แนวโน้มบาทยังอ่อนค่าตามสกุลเงินในภูมิภาค สวนทางสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและยูโรที่แข็งค่าขึ้น

 

จับตา 5 ปัจจัย ชี้ทิศทางเงินบาทอ่อนค่า

ทั้งนี้ปัจจัยกดดันการเคลื่อนไหวของเงินบาทคือ

  1. คาดการณ์ของตลาดถึงช่วงเวลาในการลดขนาดหรือยุติการเข้าซื้อพันธบัตร(QE Tapering)ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด)
  2. เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาดี
  3. การเมืองในประเทศ
  4. ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัว 3.4%
  5. ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลในช่วงไตรมาส 1-2 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินบาทเปิดทำการ 2 วันแรกปี 2565 แข็งค่า 0.3% ที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์จากระดับปิดทำการสิ้นปีก่อนที่ 33.41 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับปีที่แล้วที่เงินบาทอ่อนค่าลง 10.4% 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ปัจจัยหลักมาจากช่วงวันหยุดสิ้นปี ตลาดเชื่อว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอาจไม่กระทบเศรษฐกิจรุนแรง ขณะเดียวกันสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า โดยมีแรงหนุนจากสัญญาณธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) อยู่ในช่วงเตรียมคุมเข้มนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ตามช่วง ครึ่งแรกปี 2565 มี 2 ปัจจัยที่ตลาดจับตา คือ

  1. สัญญาณเฟดจะคุมเข้มนโยบายการเงิน ซึ่งน่าจะจบการทำ QE เดือนมี.ค.โดยตลาดประเมินเฟดน่า จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนพ.ค. ขณะที่ตลาดบางส่วนเริ่มกังวลว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ 
  2. ปัจจัยพื้นฐานของเงินบาทที่อ่อนแอ จากการระบาดของโอมิครอน มีผลต่อจังหวะการฟื้นตัวของบางกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว เห็นได้จาก ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลเฉพาะเดือนพ.ย.2564 หลังเริ่มเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพียงช่วงสั้นๆ แต่จากนั้นก็ต้องปิดประเทศจากโอมิครอนที่ขยายวงกว้างขึ้น ดังนั้น เงินบาทมีแรงกดดันจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังขาดดุลและหากเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย แนวโน้มอาจทำให้เงินทุนไหลเข้าน้อยลง

 

“ครึ่งปีแรก ยังเห็นเงินบาทอ่อนค่ากว่า 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะสนับสนุนภาคการส่งออก แต่ก็ทำให้ต้นทุนนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ปีหน้ามีโอกาสเห็นเงินเฟ้อขยับสูงกว่าปีที่แล้ว แต่ไม่อยู่ในจุดที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องเร่งตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ”นางสาวกาญจนากล่าว

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า คาดว่าครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ และน่าจะเริ่มเห็นจุดเปลี่ยนในครึ่งปีหลัง ดอลลาร์ที่กลับมาอ่อนค่า ถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาปลายไตรมาส 3 และ 4 มีโอกาสเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าในสิ้นปีที่ระดับ 31.75-32 บาทต่อดอลลาร์
 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

“ตอนนี้อยู่ในช่วงลุ้นว่า รัฐบาลจะกระจายวัคซีนกระตุ้นและบริหารเตียงได้ดีเพียงไร หากสามารถฉีดวัคซีนกระตุ้นไม่ทำให้โอมิครอนรุนแรง และนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาได้ แม้ไตรมาส 1-2 ยังคงขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ไตรมาส 3 ภาพจะเริ่มดีขึ้นและไตรมาส 4 ดุดุล บัญชเดินสะพัดจะกลับมาเป็นบวกได้” นายพูนกล่าว 

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ แนวโน้มยังปรับเพิ่มขึ้นจากต้นทุนราคาสินค้า ราคาอาหารสด ราคาสินค้าพลังงานคาดว่า เงินเฟ้อของไทยจะสูงช่วงไตรมาส 1-2 หรือครึ่งปีแรก จากนั้นจะค่อยๆชะลอลง โดยทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 1.6-1.7% แต่ตราบใดที่ตัวเลขเงินเฟ้อไม่ทะลุ 2% ไม่น่าจะกดดันกนง.ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% แต่คาดว่าจังหวะที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะไตรมาส 4 ปี 2566 หรืออย่างเร็วที่สุดประมาณกลางปี 2566

 

“กรณีโอมิครอนไม่รุนแรง มองค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.5 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากสถานการณ์โอมิครอนรุนแรง เงินบาทอาจอ่อนค่าไม่เกิน 34 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนเงินเฟ้อแม้จะปรับเพิ่มขึ้น แต่เป็นปัจจัยชั่วคราวไม่น่าจะส่งผลต่อตลาดมากนัก แต่ช่วงเวลาการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นประเด็นตลาดจับตา ถ้าตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐออกมาดี เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเป็นเดือนมี.ค.อาจเห็นสกุลเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้บ้าง ขณะที่เงินบาทยังเคลื่อนไหวแกว่งตัว อ่อนค่าบางจังหวะ” นายพูน กล่าว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,746 วันที่ 6 - 8 มกราคม พ.ศ. 2565