ข้าวไทยบันไดไม่แห้ง คู่ค้าแย่งซื้อ บาทอ่อนกดราคาต่ำ ขายดีพุ่งแซงเวียดนาม

31 ต.ค. 2564 | 11:23 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2564 | 18:40 น.
4.3 k

อุทกภัยครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 1 กันยายนถึง 29 ตุลาคม 2564 มีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบทั่วประเทศ 5.62 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นนาข้าวถึง 3.88 ล้านไร่ จะมีผลกระทบกับผลผลิตข้าวของไทยอย่างไร รวมถึงทิศทางการส่งออกข้าวไทยที่ช่วงครึ่งปีแรกขายฝืด ล่าสุดเป็นอย่างไรนั้น

 

นายชูเกียรติ  โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ โดยระบุว่าขณะนี้อาจยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าอุทกภัยครั้งนี้มีผลผลผลิตข้าวเสียหายแค่ไหน เพราะในข้อเท็จจริงข้าวมีคุณสมบัติทนน้ำได้อย่างน้อย 15 วัน แต่ถ้าเกิน  15 วัน มันอาจจะมีปัญหา และในจำนวน 3.8 ล้านไร่นี้ ตัวเลขยังไม่ชัดเจนว่ามีความเสียหาย 100% หรือเสียหายบางส่วนเท่าไหร่ อย่างไรก็ดี น้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลให้ข้าวนาดอนได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ซึ่งอาจมาชดเชยข้าวนาลุ่มที่เสียหายได้บางส่วนปี

 

-น้ำท่วมนาเสียหาย มีผลต่อราคาข้าวอย่างไร

ปฏิกิริยาราคาข้าวช่วงน้ำท่วม มีผลให้ราคาข้าวขยับขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น แต่เวลานี้ราคาเริ่มลง โดยผู้ประกอบการโรงสีซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับชาวนาในพื้นที่คงเห็นว่าความเสียหายไม่ได้มากอย่างที่คิด เพราะฉะนั้นราคาข้าวจึงปรับตัวลดลง

 

“เมื่อสัปดาห์ก่อนข้าวขาว 5%(ข้าวสาร) ขึ้นจาก  11.80 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 12.20 บาท วันนี้ลงมาเหลือ 11.90 บาท มีคนอยากขายเยอะเลย สะท้อนได้ว่า ความเสียหายจากน้ำท่วมต่อผลผลิตข้าวอาจจะไม่มากอย่างที่คิด อย่างที่ผมสรุปคือ ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินและสรุปว่ามันเสียหายไปกี่ล้านตัน”

 

ข้าวไทยบันไดไม่แห้ง คู่ค้าแย่งซื้อ บาทอ่อนกดราคาต่ำ ขายดีพุ่งแซงเวียดนาม

 

 

-น้ำท่วมนาข้าวผลต่อตลาดส่งออก ราคาข้าวมีความผันผวนหรือไม่

ไม่มีอะไรเลย คือราคามันวูบวาบแค่อาทิตย์ที่แล้วที่ราคาขึ้นมาหน่อย ลูกค้าก็ชะงักนิดนึง ไม่ได้มีการซื้อเพิ่มแต่อย่างใด คือทุกคนก็ดู ลูกค้าก็โทรมาถามเหมือนกัน ผมก็บอกอย่างนี้ว่ามันเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าเสียหายไปเท่าไหร่ เพราะน้ำเพิ่งท่วม ถ้าน้ำลด แล้วพายุมาอีกลูกสองลูก อันนั้นเป็นอะไรที่ต้องจับตามอง แต่ ณ เวลานี้ความเสียหายอาจจะมีบ้าง เราไม่ได้บอกว่าไม่มีเลย แต่ว่าอาจจะไม่มากอย่างที่เราคิด หรืออย่างที่บอกนาในที่ดอนปกติอาจได้ 80%  แต่ปีนี้อาจจะขึ้นมากว่า 90% เลยอะไรอย่างนี้

 

-นาดอนมีอยู่ในทุกจังหวัด?

นาดอนมีทุกจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานที่มีที่ดอนมากกว่าที่ลุ่ม ซึ่งปีนี้นาดอนได้ผลผลิตดี และเท่าที่คุยกับโรงสี เขาบอกว่าปีนี้ข้าวเยอะแน่นอน

 

 

-ผลผลิตข้าวไทยปี 2563 และคาดการณ์ปี 2564

ปี 2563 ผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 28 ล้านตัน ถ้าคิดเป็นข้าวสารก็ประมาณ 16 ล้านตัน เพราะเจอผลกระทบภัยแล้ง แต่ปีนี้คาดการณ์ข้าวเปลือกจะมีผลผลิตถึง 32 ล้านตัน หรือ 20 ล้านตันข้าวสาร  แม้จะมีน้ำท่วมก็ตาม ปริมาณเพิ่มขึ้นเยอะ ราคาถึงได้ดร็อปลง จากพื้นที่ปลูกข้าวขยายตัวเพิ่มขึ้น จากรัฐบาลมีโครงการ ประกันรายได้ข้าวอยู่ และคนที่ตกงานกลับบ้านไปก็เยอะ ก็ไปทำนา ทำสวน ราคาประกันข้าวสำหรับข้าวเปลือกเจ้าก็ยังได้ตันละหมื่น ถ้าเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิก็ตันละ 1.5 หมื่นบาท

 

-ช่วงนี้บาทอ่อนราคาข้าวไทยถูกลง ส่งออกข้าวเป็นอย่างไรบ้าง

ดีมากเลยช่วงนี้ ส่งออกได้เดือนหนึ่ง 7 แสนกว่าตันตลอดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พอค่าเงินบาทเริ่มอ่อนจากช่วงกลางปี จากต้นปีอยู่ที่ 31 บาทกว่า ๆ  อ่อนมาเรื่อย ๆ จนเวลานี้อยู่ที่ 33 บาทกว่า ๆ ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาข้าวสามารถลดลงไปได้เยอะเลย ข้าวขาว 5% ลดลงไปได้อีกอย่างน้อย 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันจากราคาช่วงต้นปี และก็ราคาข้าวภายในก็ปรับลดลงมาด้วย จากต้นปีกิโลกรัมหนึ่งเคยขึ้นไป 16 บาท หรือตันละ 1.6 หมื่นบาท(ข้าวสารเจ้า 5%) ลงมาเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท เพราะฉะนั้นบวกลบคูณหาร ทอนมาเป็น ราคา FOB ตอนนี้ข้าวไทยถูกกว่าข้าวเวียดนามอีก

 

“ข้าวขาว 5% ของไทยในเวลานี้อยู่ที่ประมาณ 400-405  เหรียญต่อตัน จากช่วงต้นปีขึ้นไป 520  ตอนนี้ลงเหลือประมาณ 405 เหรียญ ส่วนข้าวเวียดนามตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 410 เหรียญต่อตัน อินเดียยังถูกกว่าเราอยู่ที่ประมาณ 380 เหรียญต่อตัน แต่ว่าประเทศในเอเชียทั้งหลาย อย่างทั้งจีน ฟิลิปปินส์  ทั้งมาเลเซีย หันมาซื้อข้าวไทยหมดเลยตอนนี้”

 

ประเทศที่กล่าวมาเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ทั้งนั้น ซื้อทีหลายหมื่นตัน นอกจากนี้มีอิรักที่กลับมาซื้อก็น่าจะซื้อไปแสนกว่าตัน ยังไม่รวมในแอฟริกา อย่างพวกข้าวนึ่งก็กลับมาหมดเลย พวกไนจีเรียอะไรแบบนี้

 

ข้าวไทยบันไดไม่แห้ง คู่ค้าแย่งซื้อ บาทอ่อนกดราคาต่ำ ขายดีพุ่งแซงเวียดนาม

 

-ข้าวไทยขายดีมากช่วงไตรมาสที่ 4

ใช่ ด้วยอาอานิสงส์ของค่าเงินบาทที่อ่อนลงมา ทำให้เราแข่งขันกับเวียดนามได้มากขึ้น เราขายแซงหน้าเวียดนามเลยในช่วงหลัง ถ้าดูจากตัวเลขส่งออก เพราะตัวเลขส่งออกเราช่วงต้นปีอยู่ที่ 4 แสน-4.5 แสนตันต่อเดือน ตอนนี้ขึ้นมา 7.5 แสนตันอะไรอย่างนี้ บ่งบอกว่าเรามีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น

 

-มีตัวช่วยเพิ่มจากต้นปี

ใช่ ตอนแรกเราคิดว่า ปีนี้จะส่งออกได้ 5 ล้านตันก็เก่งแล้ว จากปีที่แล้ว 5.7 ล้านตัน แต่เราตั้งเป้าไว้(ปีนี้) 6 ล้านตัน ดูแล้วท้ายสุดน่าจะเข้าเป้าที่ 6 ล้านตัน และหากผลผลิตปีนี้ได้ 19-20 ล้านตันข้าวสาร ปีหน้าเราอาจจะส่งออกได้ถึง 7 ล้านตัน ถ้าค่าเงินบาทไม่กลับไปแข็งค่าเหมือนที่เคย น่าจะวิ่งอยู่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ ก็โอเคอยู่ในเกณฑ์ที่ยังสามารถแข่งขันได้

 

-การส่งออกข้าวช่วง 10 เดือนแรก

ถึงเดือน 10 เราส่งออกแล้วประมาณ 4.07 ล้านตัน คาดถึง 31 ต.ค.เราน่าจะส่งออกได้ประมาณ 4.7 ล้านตัน เพราะฉะนั้นที่เหลืออีก 2 เดือน (พ.ย.-ธ.ค.) สมมุติว่าส่งออกได้เดือนละ 6.5 แสนตัน(อีก 1.3 ล้านตัน)ก็ถึงเป้าแล้วที่ 6 ล้านตัน ปีนี้รอดตัว จากต้นปีคิดแล้วเหนื่อยจัดเลย ผู้ส่งออกนี่ถอดใจกันหมดแล้ว เพราะจริง ๆ ส่งออกอยู่ที่ตัวเลขว่าจะอย่างไร เพราะมาร์จิ้นไม่ค่อยมีหรอก เพราะพอตัวเลขส่งออกน้อยมันขาดทุนกันหมดเลย

 

-ปีนี้มีมาร์จิ้นแค่ไหน เพราะค่าระวางเรือก็แพง

จริง ๆ แล้วค่าระวางก็อยู่ที่ลูกค้าเป็นคนจ่ายเป็นส่วนใหญ่ ลูกค้าต้องรับภาระไป เขาให้เราออฟเฟอร์ CIF ปัจจุบันเป็นเท่าไหร่ก็บวกเข้าไป แต่ถ้า FOB เขาก็หาเรือมาเอง แน่นอนตรงนี้ก็เป็นตัวถ่วงตัวหนึ่งที่ทำให้อย่างเช่นตลาดอเมริกา ข้าวหอมมะลิจากเมื่อก่อนค่าระวางเรือ ตู้หนึ่งประมาณ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ขึ้นไป 2 หมื่นดอลลาร์ เพราะฉะนั้นยูนิตไพรซ์คือข้าวหอมมะลิเราลงมาเหลือตันหนึ่งประมาณ 700 ดอลลาร์ จาก 1.2 พันดอลลาร์ เจอค่าเฟรทในปัจจุบัน พอบวกกลับเข้าไป ต้นทุนปลายทางของลูกค้าขึ้นไปอยู่ 1.3-1.4 พันดอลลาร์ต่อตัน แพงกว่าราคาข้าวเราเมื่อก่อนอีก ทำให้ตัวเลขส่งออกไปอเมริกาก็ลดลง แต่ตลาดอื่นยังไปได้ดี