บลจ.ยูโอบี ชี้ตลาดผันผวนสูงระยะสั้น จากผลกระทบโอไมครอน

30 พ.ย. 2564 | 16:29 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2564 | 23:29 น.

บลจ.ยูโอบี จับตาผลกระทบจากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ต่อสินทรัพย์แต่ละประเภทอย่างใกล้ชิด หากผลกระทบรุนแรง อาจจะแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลงอีก หรือลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น Cyclicals คาดความผันผวนในตลาดสูงระยะสั้น จากความไม่แน่นอน

รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี(ประเทศไทย)จำกัดระบุว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ทำให้ความไม่แน่นอนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลมากนัก โดยโอไมครอนถูกพบว่า มีการกลายพันธุ์จำนวนมากบนรหัสพันธกรรม ผู้เชี่ยวชาญบางคนประเมินว่า อัตราการแพร่กระจายและการดื้อต่อวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจสูงกว่าสายพันธุ์เดลต้า  แต่ประเด็นนี้ ก็ยังไม่ได้รับการทดสอบและทดลองอย่างเหมาะสม แต่ถึงแม้ว่าจะจริง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดก็จะขึ้นอยู่กับระดับของอัตราการแพร่กระจายและประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวด้วย 

 

ประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนอีกประการหนึ่งก็คือระดับความรุนแรงของไวรัส การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่มีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์อื่นๆก่อนหน้านี้เป็นแนวป้องกันด่านแรก แต่เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพมากเพียงใดในการต้านทานไวรัสสายพันธุ์นี้และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการปรับปรุงวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงยังมีความเสี่ยงที่แนวป้องกันนี้อาจจะไม่สามารถต้านทานไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวได้ดีนัก

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของรัฐบาลและธนาคารกลางด้วย โดยหลายประเทศมีมาตรการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron โดยการออกมาตรการจำกัดการเดินทางจากบางประเทศในแอฟริกา อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆไม่ได้ต้องการที่จะใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด เว้นเสียแต่ว่าจะถูกสถานการณ์บังคับหากเกิดการระบาดอย่างรุนแรงและ/หรือความสามารถในการให้บริการของระบบสาธารณสุขเข้าไปใกล้ขีดจำกัดมากเกินไป 

 

สำหรับธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) เราคิดว่าแรงกดดันให้เร่งลด QE อาจจะลดลงบ้างเนื่องจากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แต่เราก็เชื่อว่า Fed น่าจะไม่ได้ต้องการชะลอการลด QE ลง เราคิดว่า Fed อาจจะต้องการรักษาทางเลือกที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เร็วขึ้นในกรณีที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงกลางปี 2022
 

ส่วนผลผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทยพบว่า ผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับตัวลงเล็กน้อย ยกเว้นพันธบัตรอายุ 7-15 ปี ที่ปรับลดลง 5bps (1bps=0.01%)ในวันศุกร์ ที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10ปี ที่ปรับตัวลง 16bps ตั้งแต่ข่าวไวรัสโอไมครอนออกมา เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศมีความกังวล เรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจและต้องการลดความเสี่ยงในการลงทุน โดยมีการขายพันธบัตรไทยออกด้วย 

 

ทั้งนี้มียอดขายสุทธิในพันธบัตรอายุต่ำกว่า 1 ปี สูงถึง 2,644 ล้านบาทและขายพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปี 948 ล้านบาท  ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวอย่างรวดเร็ว จาก 33.40 บาท มาอยู่ที่ 33.68 บาทต่อUSD อย่างไรก็ตามมีแรงซื้อจากนักลงทุนกลุ่มธนาคารเข้ามาสนับสนุนและกดผลตอบแทนลง ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยเช้านี้ ยังคงเงียบๆ ผลตอบแทนส่วนใหญ่ยังเสนอซื้อขาย รอบๆ ราคาปิดเมื่อวันศุกร์
 
 
ส่วนแนวโน้ม คาดว่านักลงทุนจะยังรอดูสถานะการณ์และผลการศึกษาผลกระทบของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ก่อนว่าจะรุนแรงหรือไม่ และประสิทธิภาพของวัดซีนปัจจุบันจะสามารถป้องกันได้แค่ไหน น่าจะส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้ไทยและผลตอบแทนพันธบัตรเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ หรืออาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อย หลังจากหายตื่นตระหนก
 

กลยุทธ์การลงทุน ในตราสารหนี้ไทย เรายังคงอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ใกล้เคียงกับมาตราวัด เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะมีการนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับเข้ามา
 

ขณะที่ผลกระทบต่อตลาดตราสารทุนไทย รัฐบาลไทยประกาศห้ามผู้ที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้ที่พบการระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ใหม่เดินทางเข้ามาในไทย โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่พบการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว

 

เราจะติดตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสินทรัพย์แต่ละประเภทอย่างใกล้ชิด หากเราประเมินว่าจะมีผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรงก็อาจจะแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลงอีกและ/หรือลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น Cyclicals

 

เราคาดว่า ความผันผวนในตลาดน่าจะยังคงสูงในระยะสั้นจากความไม่แน่นอนที่รออยู่ และในช่วง 2 วันที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวลงมาเกือบ 50 จุด หรือประมาณร้อยละ 3  ถือว่าน่าจะได้รับข่าวของไวรัสสายพันธุ์ omicron บ้างแล้ว  อย่างไรก็ดี กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนเราคือเน้น Domestic reopening with less exposure on international reopening  และยังคงเน้น EV ธีม Electronics สื่อสาร

 

ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ และ Domestic reopening น่าจะปรับฐานระยะสั้น เนื่องจากน้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนไทยล่าสุดอยู่ที่ 93% เทียบมาตรวัด 90%   เราคาดว่า จะลดน้ำหนักส่วนนี้มาที่ระดับ 90% ในจังหวะที่เหมาะสม   
 

ด้านผลกระทบต่อตลาดต่างประเทศ สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับลดลงลงหนักในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงประมาณ 2-4%  MSCI World Index และ S&P500 ปรับลดลง 2.2% และ 2.3%ตามลำดับ หุ้นกลุ่ม Reopening theme อาทิ กลุ่มท่องเที่ยว การเงิน พลังงาน ปรับลดลงแรง  ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับลดลงประมาณ 10bps ในเกือบทุกช่วงอายุ เช่นเดียวกับราคาน้ำมันและ Crypto Currencies ที่ปรับลงแรงเช่นกัน
 

ด้านเศรษฐกิจนั้น เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงฟื้นตัวและนโยบายการเงินเริ่มคลายความผ่อนคลายลง เรามีมุมมองว่าผลตอบแทนจากการลงทุนมีแนวโน้มต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าในขณะที่ความผันผวนมีสูงขึ้น  ดังนั้น การลงทุนต่างประเทศ จึงเน้นลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงให้สมดุลย์ระหว่างกลุ่ม growth และ cyclical รวมถึงควรกระจายความเสี่ยงไปยังหลายสินทรัพย์ โดยแนะนำการลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพทั่วโลก 

 

บลจ.ยูโอบีมีมุมมองว่า จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว ผ่านกองทุน UOBSHC UOBSHC-SSF UHCRMF