บลจ.วรรณ ปรับ โครงสร้างใหญ่ รุก Wealth Management

13 พ.ย. 2564 | 16:23 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2564 | 23:24 น.

บลจ.วรรณปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เปิดตัวบล.ไพน์ รุกธุรกิจ Wealth Management ครบวงจร พร้อมลงทุนผ่านระบบ FundConnext และ Streaming Fund+ ของตลท. เพิ่มโอกาสลงทุนผ่านกองทุนรวมทั้งในและต่างประเทศ ตั้งเป้า 3 ปีโตแบบก้าวกระโดด

ไม่เพียงถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้น แต่อุตสาหกรรมกองทุนรวมเองกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง เพราะผู้เล่นในตลาดจะไม่ใช่แค่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)อีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ ธุรกิจประกัน หรือแม้แต่สินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถเข้ามาแย่งชิงเม็ดเงินในอุตสาหกรรมได้เช่นกัน

 

บลจ.วรรณจึงได้ปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดตัวบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ไพน์ เวลท์ โซลูชั่น จำกัด บล.แห่งแรกของไทยที่มีบลจ.เป็นบริษัทแม่ โดยบลจ.วรรณถือหุ้น 99% เพื่อดำเนินธุรกิจ Wealth Management แบบครบวงจร

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. วรรณเปิดเผยว่า การจัดตั้งบริษัทในเครือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญก้าวแรก เพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดดและเป็นไปตามแผนธุรกิจ 3 ปีที่วางไว้ โดยบล.ไพน์จะเน้นกลุ่มลูกค้าบุคคลเป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์การให้คำแนะนำลูกค้าแบบรายบุคคลได้มากขึ้น รวมถึงยังสามารถให้บริการลูกค้านิติบุคคลได้ด้วย

 

ทั้งนี้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ตั้งเป้ารับรู้รายได้จากบล.ไพน์ประมาณ 350 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมให้บลจ.วรรณได้เป็นอย่างดีในฐานะช่องทางการลงทุน(Distribution Channel) ขณะที่การดำเนินธุรกิจของบลจ.วรรณ หลังจากนี้ จะยังมุ่งมั่นพัฒนาความเป็นผู้นำเรื่องนวัตกรรมการลงทุนใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเช่น กองทุนทางเลือก (Alternative Investment Funds) และการลงทุน Foreign Investment Funds รวมถึงกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)

 “ที่ผ่านมา ถือว่าเราประสบความสำเร็จอย่างมากในการจัดการการลงทุนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเฟ้นหาพันธมิตรการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการบริหารสัดส่วนการลงทุนและดูแลค่าเงินให้กับนักลงทุน อีกทั้งยังเสนอขายกองทุน REIT Buy Back กองแรกของประเทศไปเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา และมีรายได้จากการเป็นนายทะเบียนและทรัสตีมาเสริมอีกด้วย ซึ่งบริษัทจะหาโอกาสเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและเพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายพจน์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ฐานลูกค้าของบลจ.วรรณและบล.ไพน์ จะไม่ทับซ้อนกัน โดยบล.ไพน์จะเน้นเรื่อง การเข้าถึงความต้องการลูกค้ารายบุคคล ส่วนฐานลูกค้าส่วนบุคคลของบลจ.วรรณ จะถูกโอนย้ายไปยังบล.ไพน์ตามความประสงค์ลูกค้า ซึ่งมองว่า การโอนย้ายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับลูกค้ามากกว่า เพราะลูกค้าจะมีโอกาสการลงทุนที่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของ บลจ.วรรณ

 

ขณะที่บล.ไพน์ไม่เหมือนบริษัทหลักทรัพย์อื่นๆ ที่เน้นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก แต่บล.ไพน์จะเน้นการลงทุนในเชิง Wealth Management มากกว่า รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ทั้ง ตราสารหนี้ กองทุนรวม และหุ้นกู้อนุพันธ์ และสินทรัพย์ลงทุนอื่นๆในอนาคต ที่จะผ่านการคัดกรองจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญ และจัดเป็นพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าตามความเหมาะสม

 

“เรามีการพัฒนาตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์สิ่งรอบข้างอยู่เสมอ เพื่อต่อยอดธุรกิจของเรา ซึ่งบล.ไพน์ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ต้องการขยายธุรกิจและปรับรูปโฉมให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา บลจ.วรรณเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนทั้งในและต่างประเทศมาตลอด 30 ปีอยู่แล้ว”นายพจน์กล่าว

 

ดังนั้น การปรับให้ทีมผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่การตลาดทุกคนไปประจำยังบล.ไพน์ จะช่วยเสริมคุณภาพการบริการควบคู่ไปกับการบริหารผลตอบแทน เพราะสามารถลงทุนได้หลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก และเป็นการลงทุนแบบ Open Architecture เปิดรับผลิตภัณฑ์ของทุกธนาคาร บล. บลจ. หรือบริษัทประกันในอนาคต จะทำให้การแนะนำการลงทุนดีขึ้นและทำได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

นอกจากนี้ ยังคงรุกการเติบโตในส่วนกองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกค้านิติบุคคล และสถาบันองค์กรขนาดใหญ่ รวมถึงตัวแทนขาย (Selling Agents) โดยในแผนพัฒนาองค์กร 3 ปี บริษัทมีแผนในการขยายธุรกิจในระดับระดับภูมิภาค (Regional) เพิ่มเติม อีกทั้งยังได้เริ่มเตรียมตัวสำหรับผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทสินทรัพย์ดิจิตัล (Digital Assets) ซึ่งอาจต้องมีการขยายธุรกิจเพิ่ม เพื่อรองรับความต้องการในอนาคตด้วย

 

นายสุรศักดิ์ ธรรมโม กรรมการผู้จัดการ บล.ไพน์ เวลท์ โซลูชั่น จำกัดกล่าวว่า
วางเป้าหมายของบล.ไพน์เป็น ONE-Stop Financial Service ให้กับนักลงทุน โดยมีผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่การตลาดของ บล.ไพน์ ช่วยแนะนำการลงทุนให้เหมาะกับนักลงทุนตามสถานการณ์เศรษฐกิจและความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ อีกทั้งมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่กว้างขึ้นมาก

 

สำหรับแผนธุรกิจช่วงแรกจะนำร่องด้วยผลิตภัณฑ์กองทุนรวมในประเทศที่เป็นที่คุ้นเคยผ่านระบบ FundConnext และ Streaming Fund+ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)และวางแผนจะเริ่มเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมทั่วโลกในรูปแบบลงทุนตรงต่างประเทศในช่วงต้น-กลางปีหน้านี้

 

รวมถึงผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้โดยเฉพาะในตลาดแรกหรือ IP0 ประกอบการให้คำแนะนำแบบ Asset Allocation uu Open Architecture ทั้งการลงทุนระยะสั้นถึงกลาง ยาว และการลงทุนแบบจับจังหวะตลาดให้เหมาะกับสไตล์การลงทุนของลูกค้า โดยบล.ไพน์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแนะนำการลงทุนได้เพราะมีผลิตภัณฑ์จากทั้งบลจ.ชั้นนำในประเทศและต่างประเทศ ตราสารหนี้ในตลาดแรก หุ้นกู้อนุพันธ์ ซึ่งอาจรวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและสินทรัพย์ดิจิตัลในอนาคต

 

ขณะเดียวที่ จุดเด่นของบล.ไพน์ที่แตกต่างคือการนำทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในวิเคราะห์การลงทุนได้อย่างยอดเยี่ยม มารวมเข้ากับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายและครอบคลุมทั่วโลกแล้วเสริมด้วยนวัตกรรมและแพลตฟอร์มการลงทุน ให้เข้ากับตัวลูกค้าและนักลงทุน ผ่านขั้นตอนรายงานการลงทุนที่เข้าใจง่ายและครบถ้วน

 

"เราวางเป้าหมายเริ่มต้นด้วย AUA (Asset Under Advisory) เดิมประมาณ 15,000 ล้านบาท และวางเป้าหมายการเติบโตไปเป็น 30,000 ล้านบาทภายใน 3  ปีนี้"

 

ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เราแนะนำให้ลูกค้าและนักลงทุนไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่การลงทุนในกองทุนรวมในไทยเท่านั้น แต่รวมถึงสินทรัพย์ประเภทอื่นๆและการลงทุนตรงในกองทุนรวมต่างประเทศด้วย ซึ่งตลาดการลงทุนในต่างประเทศนั้นมีความหลากหลายมากและยังมีสินทรัพย์ในการลงทุนให้ค้น เพื่อเปิดโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อีกมาก

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,731 วันที่ 14 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564