TRUE - DTAC ควบรวมกิจการ ประหยัดงบลงทุนปีละ 1 หมื่นล้านบาท

22 พ.ย. 2564 | 11:07 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2564 | 18:57 น.
1.1 k

โบรกเผย TRUE - DTAC ควบรวมกิจการ รับประโยชน์ทั้ง 2 บริษัท และช่วยปิดจุดอ่อน ชี้ประหยัดงบลงทุนปีละ 10,000 ล้านบาท เสริมโครงสร้างแข็งแกร่ง พร้อมขึ้นแท่นเบอร์ 1

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ราคาหุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) (TRUE) เปิดซื้อขายที่ 4.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.48 บาท หรือ 11.11% ส่วนบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) เปิดที่ 45.50 บาท เพิ่มขึ้น 4.25 บาท หรือ 10.30% รับผลบวกก่อนเวลา 13.30 น. เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ จะจัดแถลงข่าว "เครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ พิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร 

สู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ"

 

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัดเปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสำคัญธุรกิจสื่อสารไทยเกิดขึ้นอีกครั้ง หลัง DTAC และ TRUE อนุมัติให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ และดำเนินการขั้นต้นที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมบริษัทกัน ภายใต้โครงสร้างจำนวนหุ้นบริษัทใหม่ที่ 138,102 ล้านหุ้น จะแบ่งเป็นการแปลงหุ้น DTAC เดิม สัดส่วน 1 หุ้น DTAC : 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้น TRUE เดิม สัดส่วน 1 TRUE : 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ 

 

ทั้งนี้ ภายใต้สัดส่วนดังกล่าว หลังรวมผู้ถือหุ้น DTAC และ TRUE จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ สัดส่วน 42.1% และ 57.9%  โดยการควบรวมจะเกิดขึ้น หลังจากดำเนินตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสำเร็จนอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 กลุ่ม คือ Telenor และกลุ่ม CP ยังจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นใหม่ เพื่อทำคำเสนอซื้อโดยสมัครใจ DTAC และ TRUE ที่ราคาหุ้นละ 47.76 และ 5.09 บาท

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกรรม ถือเป็นบวกในมุมธุรกิจทั้ง 2 ฝ่าย เป็นการสร้างประโยชน์ต่อทั้ง DTAC และ TRUE ช่วยปิดจุดอ่อนแต่ละฝ่าย โดย DTAC คือ บริการ 5G ที่ปัจจุบันยังขาดคลื่นความถี่ช่วงกลางอยู่ระหว่างรอประมูลคลื่น 3500 MHz แต่กำหนดการยังมีความไม่แน่นอน บวกกับฐานลูกค้าธุรกิจที่จะเป็นส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มของบริการ 5G ยังมีน้อยและขยายช้ากว่าคู่แข่ง ส่วน TRUE มีจุดแข็ง คือ มีคลื่นความถี่ 5G ช่วงกลางพร้อมให้บริการ และมีฐานลูกค้าธุรกิจหลากหลายทั้งในกลุ่ม CP ผู้ถือหุ้นและพันธมิตรโดยรอบช่วยต่อยอด ส่วน TRUE คือ ภาระหนี้สินที่สูง และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไม่ครอบคลุมงบลงทุนในแต่ละปี 

 

ขณะที่ DTAC มีจุดแข็งกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีความสม่ำเสมอการรวมธุรกิจกัน จะช่วยเรื่องฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้น ต้นทุนที่ลดลง ช่วยในเรื่องกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้สูงพอลงทุนแต่ละปีและทยอยลดภาระหนี้ในลำดับถัดไป

 

 

ขณะเดียวกัน ในด้านภาพรวมธุรกิจ คือจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการอันดับที่ 1 หากอิงขนาดรายได้, ลูกค้า51.28 ล้านราย เทียบ ADVANC ที่มี 43.44 ล้านราย มีส่วนแบ่งตลาด (รายได้) 54.4% เทียบ ADVANC ที่ 45.6% มีรายได้ Synergy บริษัทใหม่ที่คาดหวังได้หลักๆ ประเมินที่ต้นทุน คือ การลดภาระต้นทุนที่มีความซับซ้อนกัน โดยประเมินต้นทุน DTAC+TRUE หากเทียบส่วนที่จะลดลงได้ อิงกับต้นทุน ADVANC จะมี Upside คาดหวังได้ลดลงอย่างน้อย 15% เทียบกับกรณีไม่รวมธุรกิจ ประเมินทุกๆ 5% ที่ลดลงได้ จะคิดเป็นต้นทุนลดลงปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ประหยัดงบลงทุน (CAPEX) เมื่อรวมธุรกิจกัน เฉพาอย่างยิ่งในส่วน 5G ที่ต้องใช้เม็ดลงทุนสูง+ต่อเนื่อง รองรับ Use Case ในอนาคต อาทิ Internet of Things (IoTs), ระบบอัตโนมัติต่างๆ, Metaverse หากเทียบ CAPEX ของ DTAC กับ TRUE ที่แยกกันลงทุนสูงปีละ 40,000 ล้านบาท เทียบกับADVANC ปีละ 27,500 ล้านบาท CAPEX เมื่อรวมธุรกิจกันคาดลดลงอย่างน้อยปีละ 10,000 ล้านบาท

 

 

ด้านบล.โนมูระพัฒนสิน จำกัด ระบุว่า ผลบวกที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวมในครั้งนี้ 2 ส่วนหลัก คือ ระดับบริษัท (DTAC,TRUE) จะได้ประโยชน์ในเชิงโครงสร้างที่แข็งแกร่งขึ้นทั้ง Market share และคลื่นความถี่สั้น-กลางจะขยับเป็นเบอร์หนึ่ง ทำให้บริษัทใหม่มีข้อได้เปรียบในการลดต้นทุนได้ง่ายขึ้น ส่วนระดับอุตสาหกรรม (ADVANC, DTAC, TRUE) ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดลดลง ผลักดันแนวโน้มการแข่งขันด้านราคาทั้งการออกโปรโมชั่นหรือการประมูลคลื่นในอนาคตจะลดลง