ไทยพาณิชย์ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว

27 ส.ค. 2564 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2564 | 18:25 น.
875

ไทยพาณิชย์ประเมิน สินเชื่อปี 64 โต 3% ระบุครึ่งปีหลังปัจจัยเสี่ยงเพียบ ทั้งการล็อกดาวน์ สินเชื่อชะลอตัวสภาพเศรษฐกิจ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ี้แบบเบ็ดเสร็จ เลี่ยงตกหน้าผาหนี้ระยะสั้น มั่นใจเอ็นพีแอลจัดการได้

นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)หรือ SCB เปิดกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจธนาคารในครึ่งปีหลัง ยังมีแรงกดดันด้านลบสูง จากการล็อกดาวน์ต่อเนื่อง สินเชื่อชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจ รายได้ดอกเบี้ยรับยังได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและสภาวะการแข่งขัน รายได้ค่าธรรมเนียมได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเทียบกับครึ่งปีแรก แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่คาดว่า สามารถบริหารจัดการได้

 

นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ส่วนการเติบโตสินเชื่อปีนี้คาดว่า จะอยู่ขอบล่างของเป้าทั้งปีที่กำหนดไว้ 3-5% จากนโยบายระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ได้เน้นการเติบโตของสินเชื่อ แต่ต้องการรักษาเม็ดเงิน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการทำคะแนนความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้าแบบละเอียด เน้นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อซอฟต์โลนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี

 

ด้านคุณภาพสินเชื่อนั้น ธนาคารได้มีการจัดชั้นหนี้เสียเชิงคุณภาพมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีก่อน ปัจจุบันมียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ที่ 3.79% เพิ่มขึ้นจากก่อนวิกฤติโควิด-19 เมื่อสิ้นปี 2562 ที่ 3.41% โดยธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อจะหลีกเลี่ยงผลกระทบการตกหน้าผา (cliff effect) ของชั้นหนี้ในระยะสั้น

 “การปรับโครงสร้างหนี้เป็นแบบระยะยาวและจะมีแนวทางเฉพาะตัวตามกระแสเงินสดของแต่ละลูกค้าและแนวโน้มการฟื้นตัวของแต่ละอุตสาหกรรมคาดว่า จะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความอยู่รอดของลูกค้าในระยะยาวได้ ซึ่งจะลดผลกระทบจากหนี้เสีย ทำให้แนวโน้มเอ็นพีแอลอยู่ในระดับดีกว่าที่คาดไว้” นายมาณพกล่าว

 

ทั้งนี้ วิกฤติครั้งนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เป็นอันดับแรก โดยเห็นได้จากช่วงแรกช่วยเหลือลูกหนี้สูงถึง 8.39 หมื่นล้านบาทหรือเกือบ 40% ของพอร์ตสินเชื่อ คิดเป็นกว่า 12 ล้านราย ซึ่งมีทั้งพักชำระหนี้และผ่อนปรนการชำระหนี้ตามความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม แม้ธปท.ผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ แต่ธนาคารก็ยังยึดหลักความระมัดระวังคงมีการจัดชั้นหนี้เสียเชิงคุณภาพ  โดยหากประเมินลูกหนี้รายใดหรือกลุ่มใดที่มีโอกาสรอดต่ำ ธนาคารจะทำการจัดชั้นเป็นหนี้เสียไปก่อน เพื่อให้งบการเงินสะท้อนความเป็นจริงให้มากที่สุด  ซึ่งการตั้งสำรองทั้งส่วนที่คำนวณแบบโดยตรงจากแบบจำลองความเสี่ยงของแต่ละกลุ่มลูกค้า และส่วนที่ฝ่ายจัดการตั้งเพิ่มขึ้นโดยใช้วิจารณญาณด้วย (management overlay) เท่ากับเป็นการตั้งสำรองบนสำรองซ้อนไปอีกชั้นหนึ่ง 

 

“ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ธนาคารเชื่อมั่นว่า สามารถบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อได้ โดยได้จัดชั้นสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) เชิงคุณภาพมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว ทำให้สิ้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา สัดส่วนความเพียงพอของสำรองต่อหนี้เสีย (NPL Coverage Ratio)สูงถึง 142% และมี NPL อยู่ในระดับ 3.8% โดยมีเงินกองทุน CET1 อยู่ในระดับ 17% ซึ่งสูงที่สุดในธนาคารไทยด้วยกัน และมีเงินกองทุนรวม (CAR) ในระดับ 18%  ส่วนสภาพคล่องอยู่ในระดับที่สูงมาก”นายมาณพกล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,708 วันที่ 26 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564