ระหว่างรอประกาศอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากที่คณะกรรมการสถาบันการเงิน (กนส.) มีมติดำเนินการ 2 มาตรการ โดยเฉพาะมาตรการแก้ปัญหาหนี้เก่า ด้วยการปรับเกณฑ์ส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ตรงจุด และรักษาสมดุลและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยรวม
แหล่งข่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผ่อนเกณฑ์เพื่อสนับสนุนสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายในเดือนกันยายน 2564 มีความเป็นไปได้ที่กระทรวงการคลังและธปท.จะเดินหน้าสินเชื่อฟื้นฟูเฟส2 วงเงินอีก 1 แสนล้านบาท เพื่อต้องการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้ครอบคลุมมากที่สุด
ขณะเดียวกันได้พิจารณาการชดเชยความเสียหาย (Max Claim) ต่อพอร์ตรวม 40% แต่ในเฟส 2 ของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูต้องการค้ำประกันสินเชื่อให้สอดคล้องกับรายลูกค้าด้วย เช่น ไมโครเอสเอ็มอี, เอสเอ็มอี และคอร์ปอเรต ที่ปัจจุบันค้ำประกันรายตัว 70% 80% และ 60% ตามลำดับ แต่จะขยับเพิ่มค้ำประกันรายตัวมากขึ้น ไม่ว่ากลุ่มเปราะบาง หรือ เซ็กเตอร์เสี่ยง
“ปัจจุบันอยู่ระหว่างดีไซน์ไส้ใน เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูมากขึ้น ที่สำคัญคือ แบงก์กล้าจะปล่อยสินเชื่อ หลักการเบื้องต้นจะพิจารณาเพิ่มอัตราค้ำประกันตั้งแต่ 60-100% ซึ่งทางการต้องการจะกระจายความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องไปในไมโครเอสเอ็มอี หรือกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีความเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบาง และคอร์ปอเรตที่ได้รับผลกระทบมากๆ” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับความคืบหน้ายอดค้ำประกันปี 2564 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม มีจำนวน 169,000 ล้านบาท ลูกค้า 159,000 ราย แบ่งเป็นลูกค้าภายใต้พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูกว่า 83,000 ล้านบาท ลูกหนี้ 27,000 ล้านบาท เฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อราย โดยการค้ำประกันสินเชื่อภายใต้พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูนั้นแบ่งเป็น ผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีสัดส่วน 9% คอร์ปอเรต 38% และเอสเอ็มอี 51%
ขณะเดียวกันยังแบ่งเป็นลูกค้ามาจากธนาคารพาณิชย์สัดส่วน 88% และสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) 12% เนื่องจาก SFIs แต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) ต่างก็มีมาตรการสำหรับช่วยเหลือลูกค้าอยู่แล้ว ทำให้สถาบันการเงินของรัฐใช้สินเชื่อฟื้นฟูภายใต้พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูในสัดส่วนไม่มาก
แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า สำหรับยอดค้ำประกันเฉพาะของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีจำนวน 86,000 ล้านบาท มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ 131,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นไมโครเอสเอ็มอี เฉลี่ยวงเงิน 650,000 บาทต่อราย โดยยังคงมีวงเงินเหลืออีกประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะที่วงเงินค้ำประกันของภาครัฐคงเหลือ 546,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 โดยทั้งปี 2564 คาดว่าบสย.จะสามารถค้ำประกันได้เกิน 1.8 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้รวมสินเชื่อภายใต้พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูด้วย
สำหรับการปรับเกณฑ์ส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้คือ 1.สถาบันการเงินสามารถคงการจัดชั้นสำหรับลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้แล้วได้ถึง 31 มีนาคม 2565 เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินและลูกหนี้มีเวลาเพียงพอในการพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลในระยะยาว
2.ใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อลดภาระต้นทุน สำหรับสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืน ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยวิธีที่นอกเหนือไปจากขยายเวลาชำระหนี้เพียงอย่างเดียว และ 3.ขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือ 0.23% จาก 0.46% ต่อปีออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงราว 30,000 ล้านบาท ไปบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนในรูปแบบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,708 วันที่ 26 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564