ธปท.มั่นใจ สินเชื่อฟื้นฟู ทะลุเป้า 1 แสนล้านภายในต.ค.นี้

02 ก.ค. 2564 | 15:29 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2564 | 22:29 น.
605

ธปท.เผยสินเชื่อฟื้นฟูเป็นไปตามเป้า มั่นใจทะลุเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท ภายในต.ค. เร่งเดินหน้า โครงการพักทรัพย์พักหนี้ หลังยอดโอนเพียง 11 ราย มูลค่า 941 ล้านบาท ยันอยู่ระหว่างเจรจาอีกมาก

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า การปล่อย สินเชื่อฟื้นฟู มีความคืบหน้าและมีแนวโน้มดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมของธปท.และสมาคมธนาคารไทยที่ 1 แสนล้านบาท ภายในเดือนตุลาคมนี้ จากยอดสินเชื่อฟื้นฟูทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

ล่าสุด ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 มียอดรวมทั้งสิ้น 59,061 ล้านบาท  ครอบคลุมลูกหนี้ 19,427 ราย คิดเป็นวงเงินเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อราย โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจและภูมิภาค โดย 46% กระจายไปยัง SMEs ขนาดเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท ขณะที่ 68%  อยู่ในภาคพาณิชย์และบริการ และ 68% เป็นธุรกิจในต่างจังหวัด

 

ส่วนโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ข้อมูล ณ 28 มิถุนายน 2564 มีมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับโอน  941 ล้านบาท จากจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 11 ราย เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ ทั้งสถาบันการเงินและลูกหนี้ยังไม่คุ้นเคยกับลักษณะของโครงการ ทำให้ต้องใช้เวลาในการเจรจาหาข้อสรุปในเงื่อนไขต่างๆ

ทั้งราคาตีโอน เงื่อนไขการเช่า ผู้ดูแลทรัพย์ และการซื้อคืน ปัจจุบันมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่สถาบันการเงินอนุมัติเบื้องต้นแล้ว อยู่ระหว่างเจรจาในรายละเอียด ประกอบกับลูกหนี้ยังรอการออกกฎหมายยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมให้มีผลบังคับใช้ คาดว่าจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการจะทยอยเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

 

“ธปท. เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่ได้ถูกออกแบบมาโดยมีการหารือกับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการมาโดยตลอด ดังนั้น ต้องให้เวลาทั้งสองฝ่ายเจรจาเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว”นายจาตุรงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธปท. รับทราบปัญหาในประเด็นต่างๆ ของลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง และได้สื่อสารทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันเพิ่มในการขอสินเชื่อฟื้นฟู เพราะมีกลไกการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย)

 

นอกจากนี้ ก่อนการเจรจากับสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อม อาทิ จัดทำแผนการดำเนินธุรกิจหรือแนวทาง การปรับธุรกิจ ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ในระยะข้างหน้า หรือประมาณการกระแสเงินสดที่จะเข้ามาในอนาคต เพื่อเพิ่มโอกาสและความรวดเร็วในการที่จะได้รับสินเชื่อฟื้นฟูจากสถาบันการเงิน

 

กรณีลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ กังวลว่า จะถูกยึดทรัพย์เมื่อครบกำหนดสัญญา ในทางปฏิบัติ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องทำสัญญาเพื่อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ร่วมกัน และทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

 

ธปท. ได้เข้าไปร่วมพิจารณาสัญญาให้เป็นธรรมโดยการกำหนดถ้อยคำ ในสัญญามาตรฐาน และให้สถาบันการเงินที่ขอเข้าร่วมโครงการส่งสัญญาตีโอนให้ ธปท. พิจารณาก่อนที่สถาบันการเงินจะเข้าร่วมโครงการนี้ได้