พักทรัพย์พักหนี้กร่อย สินเชื่อฟื้นฟูสุดอืด หอการค้าฯจี้รื้อเงื่อนไขใหม่

14 มิ.ย. 2564 | 01:45 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2564 | 12:21 น.
531

สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์พักหนี้ รวม 3.5 แสนล้าน ยังอืด เอสเอ็มอีเข้าถึงสภาพคล่องแค่หยิบมือ อึ้ง “พักทรัพย์ พักหนี้”ได้รับความช่วยเหลือแล้วแค่ 4 ราย ยอดอนุมัติ 910 ล้าน “สนั่น” ประธานหอการค้าไทยออกโรง เตรียมเดินสายจับเข่าคุยซีอีโอ 5 แบงก์ใหญ่ ทะลวงคอขวด

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 23 มีนาคม 2564 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอในเรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ใน 2 มาตรการ/โครงการ วงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท

ประกอบด้วย 1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อ แก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู/ซอฟต์โลนของธปท.) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน และ 2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (พักทรัพย์ พักหนี้ หรือ Asset warehousing) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งถึงณ เวลานี้ทั้ง 2 มาตรการถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จนถึงขณะนี้โครงการสินเชื่อฟื้นฟูยังดำเนินการไปได้ช้ามาก โดยมีสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติแล้วเพียงกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่โครงการพักทรัพย์ พักหนี้มีผู้ได้รับความช่วยเหลือเพียง 4 ราย ยอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการเพียง 910 ล้านบาท

ทั้งนี้จากที่ตนและคณะได้เข้าพบและหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (10มิ.ย.64) ได้ฝากขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาขยายมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ให้ครอบคลุมถึงเงินให้กู้เพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เช่น เพิ่มเติม 30% ของหนี้เดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลักประกันเดิม หรือนำประกันใหม่มาวางเพิ่ม

พักทรัพย์พักหนี้กร่อย สินเชื่อฟื้นฟูสุดอืด หอการค้าฯจี้รื้อเงื่อนไขใหม่

ทั้งนี้ในเรื่องการเข้าถึงสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพื่อคงการจ้างงานและประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงโควิดนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งตนจะเดินสายหารือกับซีอีโอของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อย่างน้อย 5 แห่ง เพื่อทำความเข้าใจและแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ร่วมกัน คาด 2 สัปดาห์นับจากนี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งรู้สึกเสียดายหากโครงการไม่ประสบความสำเร็จเพราะล้วนเป็นโครงการที่ดี

แหล่งข่าวจากหอการค้า ไทย เผยว่า ที่ผ่านมาสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์ พักหนี้ เริ่มทำได้บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ไปอยู่ในกลุ่มเฉพาะลูกค้าชั้นดี ส่วนในกลุ่มเอสเอ็มอี ยังเข้าไม่ค่อยถึงสภาพคล่อง ปัญหาคือทำอย่างไรให้ธนาคารมีความ
มั่นใจในการปล่อยกู้ ซึ่งจากที่นายสนั่น ประธานกรรมการหอการค้าไทยจะได้เดินสายพบกับซีอีโอของธนาคารพาณิชย์คงได้มีการพูดคุยกั้นในเชิงลึกว่าธนาคารติดอะไรตรงไหน เพื่อหอการค้าได้ช่วยประสานกับสมาชิก ทะลวงปัญหาให้โครงการประสบความสำเร็จต่อไป

อย่างไรก็ดีจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ในส่วนของโครงการสินเชื่อฟื้นฟูของรัฐบาล มีสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 20,839 ล้านบาท มีผู้ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 8,218 ราย โดยวงเงินอนุมัติเฉลี่ย 2.5 ล้านบาทต่อราย ส่วนโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการ 910 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือเพียง 4 ราย โดยรายงานระบุ
ผู้ประกอบธุรกิจหลายแห่งให้ความสนใจและอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในเรื่องการเข้าถึงสภาพคล่องของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่ยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนจำนวนน้อย ทางธปท.และสมาคมธนาคารไทยก็กำลังเร่งดำเนินการกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เร็วขึ้น และมีจำนวนมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่ง ใน 2 โครงการคือ สินเชื่อฟื้นฟู (ซอฟต์โลน) และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งทุกฝ่ายต้องเร่งอำนวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น

ขณะที่ในส่วนของแนวทางให้รัฐร่วมจ่ายเงินค่าจ้าง/เงินเดือน (Co-payment) ให้กับพนักงานบริษัทเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อคงการจ้างงาน ซึ่งเป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ข้ามผ่านวิกฤติ ล่าสุดในเวทีประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ประจำเดือนมิถุนายน และที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ยังไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาหารือ ซึ่งเรื่องนี้ภาคเอกชนจะมีการหารือกับทางสภาพัฒน์อีกครั้งถึงความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือดังกล่าว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,687 วันที่ 13 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564